xs
xsm
sm
md
lg

สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 8 สั่งเข้มดูแลป้องกันปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 แถลงโครงการ “ควบคุมกำกับดูแลปัจจัยการผลิตในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” กำชับเดินหน้ามาตรการเร่งด่วนป้องกันปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานที่สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรในวงกว้าง

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอนันต์ อักษรศรี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 เป็นประธานการแถลงข่าวการดำเนินโครงการ “ควบคุม กำกับดูแลปัจจัยการผลิตในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สารวัตรเกษตร ฯลฯ เข้าร่วมรับฟังโดยพร้อมเพรียงกัน

นายอนันต์ อักษรศรี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กล่าวว่า ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ย สารเคมี และพันธุ์พืช เป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานที่เกษตรกรใช้กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมูลค่าของตลาดปัจจัยการผลิตปีหนึ่งๆ รวมกันคิดเป็นจำนวนเงินหลายแสนล้านบาท จึงทำให้มีการแข่งขันทางการค้าค่อนข้างสูง และเกิดปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน หรือปลอมมาหลอกลวงเกษตรกร สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

 
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบนโยบายการดำเนินงานในปี 2559 ในการเร่งรัดดำเนินการลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตรเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน เป็นช่วงที่เกษตรกรต้องเตรียมปัจจัยการผลิตเพื่อใช้ในฤดูกาลผลิต

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดปัญหาการเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่ขายปุ๋ยปลอม วัตถุอันตรายปลอม และเมล็ดพันธุ์พืชควบคุมไม่ได้มาตรฐาน กรมวิชาการเกษตร จึงมีนโยบายการควบคุม กำกับดูแลปัจจัยการผลิตอย่างเข้มงวด โดยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จ.สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัทลุง และ จ.ตรัง มีร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรทั้งหมดอยู่ในกับดูแลของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จำนวน 1,536 ร้าน เป็นร้านที่ขออนุญาตจำหน่ายปุ๋ย จำนวน 1,112 ร้าน จำหน่ายวัตถุอันตราย จำนวน 701 ร้าน และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ 648 ร้าน

โดยดำเนินการมาตรการคุมเข้มเร่งด่วนในมาตรการควบคุมการออกใบอนุญาต มาตรการควบคุมการตรวจร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร มาตรการการยกระดับร้านค้าเป็นร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และมาตรการประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดเทคโนโลยี

 
สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 9 มกราคม-9 กุมภาพันธ์ 2559 มีการต่อใบอนุญาตฯ ทั้งหมด 126 ฉบับ การขอใบอนุญาต 38 ฉบับ การตรวจร้านฯ 324 ร้าน และการสุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ยทั้งหมด จำนวน 7 ตัวอย่าง ผลวิเคราะห์พบว่า ได้มาตรฐาน จำนวน 6 ตัวอย่าง รอผลอีก 1 ตัวอย่าง

ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวได้มีการปล่อยขบวนสารวัตรเกษตร เพื่อออกสุ่มตรวจร้านที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์พร้อมควบคุมการจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่มีคุณภาพ และไม่ได้มาตรฐานอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นการเอาเปรียบของร้านค้าที่จำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร สามารถแจ้งที่ กลุ่มควบคุมพระราชบัญญัติ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 โทร.0-7445-9056 ต่อ 41



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น