นราธิวาส - นายอำเภอเจาะไอร้อง และตัวแทนฝ่ายต่างๆ ร่วมเดินทางมายังศูนย์อาชาบำบัดเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญา จ.นราธิวาส พบการใช้ม้าในการบำบัดได้ผลตามคำร่ำลือ จึงลงมติขยายศูนย์อาชาบำบัดให้ควบคุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ
วันนี้ (4 ก.พ.) นายสังคม เกิดก่อ นายอำเภอเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส นายลิขิต จันทร์โสภณ กรรมการศูนย์การศึกษาพิเศษ จ.นราธิวาส และตัวแทนโรงพยาบาลเจาะไอร้อง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมเดินทางมายังศูนย์อาชาบำบัดเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญา ของนายเจ๊ะบอซู บือซา อายุ 39 ปี เลขที่ 241 ม.1 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ที่ใช้เนื้อที่ว่างข้างบ้านพัก ขนาด 15 คูณ 20 ตารางวา ใช้เป็นสถานที่บำบัด โดยมี นางนิซะ บือซา ซึ่งเป็นภรรยา และเป็นพยาบาลวิชาชีพชำนาญการด้านจิตเวชของโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ที่ใช้เวลาว่างในการร่วมบำบัดเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญา จนเป็นที่เลื่องลือของชาวบ้านในพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง และ อ.ใกล้เคียง
ซึ่งเป็นที่มาของตัวแทนฝ่ายต่างๆ ได้ร่วมกันเดินทางเข้ามาศึกษาดูงาน ถึงกระบวนการบำบัดตามที่ได้มีการเล่าลือกันในวงกว้าง และพบว่า การใช้ม้า หรืออาชาในการบำบัดเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญา ได้ผลตามคำร่ำลือ จึงได้มีการลงมติว่า จะต้องมีการขยายศูนย์อาชาบำบัดให้ควบคุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ เพื่อที่จะสามารถบำบัดเด็กออทิสติกได้อย่างทั่วถึง และสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองในอนาคตได้ รวมทั้งไม่เป็นภาระของครอบครัวอีกต่อไป ซึ่งปัจจุบัน นราธิวาสมีเด็กพิการ 9 ประเภท รวมทั้งเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญา จำนวน 565 คน ในจำนวนนี้มีเด็กออกทิสติกและบกพร่องทางปัญญาอยู่ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
ต่อมา นายเจ๊ะบอซู ผู้ดูแลศูนย์อาชาบำบัดเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญา ได้มีการสาธิตวิธีการบำบัดให้แก่คณะที่ได้เดินทางมาติดตามศึกษาดูงานได้รับชม โดย นายเจ๊ะบอซู ได้อุ้มเด็กออทิสติก จำนวน 3 คน ซึ่ง 1 ในนั้นคือ ด.ช.อามิง เจ๊ะเต็ง อายุ 8 ขวบ ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการบำบัดมาแล้ว 5 เดือน พบว่า มีพัฒนาการทางสติปัญญาที่ดีขึ้น สามารถเล่าเรื่องต่างๆ ที่ประสบมาให้พ่อแม่ได้รับทราบ และที่เห็นผลค่อนข้างชัดเจน คือ สามารถพูดตอบโต้กับเพื่อนๆและสมาชิกในครัวเรือนได้เกือบเหมือนเด็กปกติ
ซึ่งวิธีการบำบัด นายเจ๊ะบอซู ได้นำเด็กที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดสลับกันขี่หลังม้า โดยมีพี่เลี้ยงประกบติดอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเด็กตก ซึ่งเป็นกระบวนการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและกล้ามเนื้อให้สูบฉีด จะทำให้ระบบสมองทำงานได้ดีขึ้น และรับรู้เหมือนเด็กปกติ ซึ่งในระยะนี้ต้องบำบัดบนหลังม้าประมาณคนละ 6 เดือนจึงเห็นผล
ซึ่ง นายเจ๊ะบอซู เปิดเผยว่า ตนมีแนวคิดร่วมกันภรรยา หลังจากที่ซื้อม้ามา 1 ตัว เพื่อหวังเพียงการขี่ม้าสนุกๆ เป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง และเมื่อภรรยาซึ่งเป็นพยาบาลด้านจิตเวช ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็กออทิสติกและเด็กบกพร่องทางปัญญา พบว่า การไหลเวียนของโลหิตที่ดีขึ้นต่อร่างกาย เป็นหนทางหนึ่งที่จะบำบัดเด็กออทิสติกได้ ทั้ง 2 คน จึงได้ซื้อม้ามาเพิ่มเติมอีก 3 ตัว รวมเป็น 4 ตัว และได้นำเด็กออทิสติกในหมู่บ้านที่สมัครใจมาบำบัดจนประสบความสำเร็จ
ต่อมา ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงได้รวมตัวกันซื้อม้าเพิ่มเติมอีก 3 ตัว รวมเป็น 7 ตัว แล้วได้ลงความเห็นจัดตั้งเป็นศูนย์บำบัดเด็กออทิสติกขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบันนี้ และปัจจุบันมีเด็กเข้าร่วมในการบำบัดรวมทั้งสิ้น 15 คน จากเด็กในพื้นที่ อ.ระแงะ และ อ.เจาะไอร้อง
ด้าน นางนิซะ บือซา กล่าวว่า เริ่มแรกเราจะสังเกตพฤติกรรมของเด็กที่ขี่ม้าบ่อยๆ พบว่า การพัฒนาการทุกอย่างดีขึ้น เมื่อผ่านไป 1 ปี เด็กก็สามารถขี่ม้าได้เองโดยที่ไม่ต้องมีคนคุม และเด็กมีพัฒนาการที่จะกลับไปเล่าให้แก่ทางบ้านทราบว่า วันหนึ่งได้ทำกิจกรรมอะไรบ้าง และทราบว่าใครที่ร่วมกิจกรรมด้วยชื่ออะไร แถมเด็กก็จะมีการพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น ซึ่งผิดกับในช่วงก่อนเข้าบำบัดโดยสิ้นเชิง