xs
xsm
sm
md
lg

หัวใส! เกษตรกรชาวพัทลุงเลี้ยงแพะในสวนยางเส้นทางรายได้เสริม แม้ราคายางตกก็ไม่หวั่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - เกษตรกรชาวพัทลุงสร้างรายได้เสริม โดยการเลี้ยงแพะในสวนยางพารา แม้ราคายางตกก็ไม่หวั่น เผยมีลูกค้าสั่งซื้อเพียบจนแพะโตไม่ทันความต้องการ

วันนี้ (22 ม.ค.) นายอนันต์ ทิพย์รักษ์ เกษตรกรวัย 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 93 หมู่ที่ 13 ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง ผู้นำแพะเข้ามาเลี้ยงในสวนยางพาราของตัวเองมากว่า 4 ปี และมีลูกค้าสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องจนแพะไม่สามารถเติบโตได้ทัน โดยมีจำนวนแพะทั้งหมด 115 ตัว ส่วนใหญ่เป็นแม่พันธุ์ และแพะเล็กที่ยังไม่ได้ขนาดที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคได้

นายอนันต์ กล่าวว่า แพะเป็นสัตว์เล็กที่เลี้ยงง่าย เพียงสร้างโรงเรือนให้สูงจากพื้นดินสำหรับให้แพะนอน ส่วนอาหารก็สามารถปล่อยให้หากินวัชพืชในสวนยางพาราเพียงวันละ 3 ชม. ก็เพียงพอ หรือหากจะมีอาหารเสริมบ้างก็จะใช้ก้อนเกลือแร่ และขี้เค้กปาล์มที่สามารถหาซื้อได้จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทั่วไป โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 สตางค์ ซึ่งไม่จำเป็นมากนัก ส่วนปัญหาเรื่องแหล่งน้ำไม่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงแพะ เพราะแพะเป็นสัตว์ที่ต้องการน้ำน้อย
 

 
สำหรับพันธุ์แพะที่ นายอนันต์ เลี้ยง เป็นแพะเนื้อพันธุ์ผสมพื้นเมือง เนื่องจากสามารถต้านทานต่อโรคได้ดี ให้ลูกดกปีละ 2 ครอก แต่ละครอกมี 1-2 ตัว ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 5 เดือน ก็สามารถจับขายได้ โดยมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 15-25 กิโลกรัม ถ้าเป็นเพศเมียจะขายแพะเป็น ที่ราคากิโลกรัมละ 120 บาท เพศผู้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 130 บาท เนื่องจากให้เนื้อดีกว่าเพศเมีย และข้อดีของแพะเล็กอีกอย่างคือ ตลาดมีความต้องการมากกว่าแพะขนาดใหญ่ที่มีราคาสูง ซึ่งไม่เหมาะต่อผู้บริโภคในท้องถิ่น ส่วนตลาดหลักๆ คือ จังหวัดตรัง ปัตตานี และเริ่มมีความนิยมบริโภคของชาวพัทลุงเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบัน นายอนันต์ ทิพย์รักษ์ ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนเกษตรกรใน ต.เกาะเต่า อ.ป่าพะยอม จำนวน 27 ราย ทำการเลี้ยงแพะในสวนยางพารา เนื่องจากการเลี้ยงแพะในสวนยางไม่เพียงส่งผลกระทบต่อต้นยาง แต่แพะจะช่วยในการกำจัดวัชพืชในสวนยาง และมูลของแพะก็ยังเป็นปุ๋ยให้แก่ยางพาราได้เป็นอย่างดี ประกอบกับขณะนี้ทางจังหวัดพัทลุง กำลังส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปศุสัตว์มากขึ้น เพื่อให้จังหวัดพัทลุงเป็นศูนย์กลางการผลิตปศุสัตว์ป้อนให้แก่ตลาดอาเซียนในอนาคต อาชีพการเลี้ยงแพะในสวนยางพาราจึงเป็นอาชีพเสริมที่จะสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้เป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหาด้านราคายางพาราตกต่ำ หรือปัญหาภัยแล้งก็จะไม่มีผลกระทบมากนัก
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น