xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาพัทลุงพลิกผืนนาเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ แนะทั่วประเทศควรเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
พัทลุง - ชานาว อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปลี่ยนวิถีตัวเองจากนาข้าวสารเคมีสู่การทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ยืนยันรายได้เพิ่มต้นทุนลดสุขภาพดีขึ้น พร้อมแนะชาวนาทั่วประเทศควรเปลี่ยนแปลงการทำนา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันนี้ (22 ม.ค.) ชาวนาในพื้นที่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปลี่ยนวิถีตัวเองจากการทำนาโดยใช้สารเคมี มาเป็นการทำนาอินทรีย์ ลดต้นทุนการผลิต และสร้างข้าวที่มีคุณภาพ โดย นายนเรศ ขวัญปลอด อายุ 43 ปี ชาวนาใน ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด กล่าวว่า ได้ศึกษา และทดลองทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2556 นับถึงวันนี้ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งจากการลองทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ และจดสถิติเปรียบเทียบกับการทำแบบเดิมที่ใช้สารเคมีจนถึงวันนี้ กล้ายืนยันได้อย่างเต็มปากว่า การทำเกษตรแบบอินทรีย์นั้นสามารถสร้างรายได้ไม่แพ้การเกษตรแบบเดิมเลย
 

 
นายนเรศ บอกว่า ปัจจุบันใช้ปุ๋ยมูลสัตว์อัดเม็ด หรือมูลสุกรอัดเม็ดในการทำนา 20 ไร่ ซึ่งต้นทุนค่าปุ๋ยตลอดฤดูจากเริ่มปักดำ ไปจนถึงเก็บเกี่ยวตกไร่ละเพียงแค่ 300 บาทเท่านั้น โดยปุ๋ยมูลสัตว์อัดเม็ดปัจจุบันนำมาผลิตเอง นอกจากการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์แล้ว นายนเรศ ยังมีวิธีการลดต้นทุนการผลิตอีกอย่างหนึ่งคือ การกำจัดวัชพืชโดยไม่พึ่งพายาปราบศัตรูพืชที่เป็นสารเคมี โดยการใช้วิธีควบคุมระดับน้ำไม่ให้วัชพืชเติบโต บางส่วนที่มีก็จะใช้กำลังคนในการกำจัดด้วยการตัดถอน และเผาทำลาย ซึ่งเป็นการกำจัดวัชพืชที่เป็นศัตรูข้าวอย่างหญ้าลิเก และข้าวดีดได้อย่างถาวร ไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดกลับมาถึงมีก็จะลดปริมาณลงอย่างมาก ผิดกับการใช้ยาฉีดที่ฤดูถัดไปหญ้าในนาก็จะกลับมาแตกยอดงอกขึ้นมาได้อีก

นายนเรศ บอกว่า แม้ผลผลิตของนาอินทรีย์ในช่วงระยะปีแรกจะได้น้อยกว่านาเคมี แต่เมื่อดินเริ่มปรับตัวในปีที่ 2 และที่ 3 ก็จะได้ผลผลิตไม่แพ้การใช้สารเคมี เรื่องต้นทุนที่ต่างกันแบบครึ่งต่อครึ่ง หรือไม่เกิน 1,500 บาท/ไร่ และราคาที่ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์จะได้ราคาที่ดีกว่าถึง 2 เท่า คือ ข้าวปลอดสารเคมีราคาตลาดจะรับซื้อตันละ 20,000-22,000 บาท ทำให้รายได้จากการทำเกษตรอินทรีย์มีมากกว่าเกษตรแบบพึ่งพาเคมีเมื่อเทียบกันไร่ต่อไร่ โดยนาข้าวแบบเกษตรอินทรีย์จะมีรายได้ขั้นต่ำไร่ละ 10,000 บาท
 

 
ขณะที่นาข้าวแบบเคมีจะมีรายได้เพียงไร่ละไม่เกิน 7,000 บาทเท่านั้น และสิ่งที่ได้มากกว่ากำไรจากการทำนา คือ สุขภาพที่ดีขึ้นของเกษตรกรเอง เพราะไม่ต้องไปสัมผัสกับสารเคมีตกค้าง ทำให้การเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มี เมื่อไม่เจ็บไข้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลก็ไม่เกิด เมื่อรายได้ที่มีมากขึ้นรายจ่ายน้อยลง ชาวนาก็สามารถเก็บออมได้เป็นกอบเป็นกำ หรือที่เรียกว่า “คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวนาที่ไม่พึ่งพาสารเคมี”

นายนเรศ ยังกล่าวอีกว่า วันนี้ชาวนาเราคงต้องเร่งทบทวนตัวเองว่า แนวทางการทำเกษตรเคมีที่ผ่านมานั้นให้อะไรแก่เราบ้าง ถึงเวลาแล้วที่ชาวนาไทย เกษตรกรไทยจะต้องหันมามองวิถีเกษตรอินทรีย์ที่เป็นรากเหง้าของไทยมาในอดีต ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เปลี่ยน เริ่มจาก 1 ใน 10 ของที่ดินที่มีมาทำเกษตรอินทรีย์เพื่อเปรียบเทียบเรื่องผลผลิต และต้นทุน แล้วเกษตรกรจะเป็นผลเห็นความแตกต่าง จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มอัตราการทำเกษตรอินทรีย์เป็น 5 ใน 10 แล้วเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบเหมือนที่ตนเองทำสำเร็จในปัจจุบัน

และนอกจากทำนาอินทรีย์แล้ว นายนเรศ ยังคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง โดยการผสมข้าวต่างสายพันธุ์ทำการตอนเพื่อคัดพันธุ์หาจุดเด่นของข้าวแต่ละชนิดผสมเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะเอาเมล็ดพันธุ์ที่ได้ใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีรถชาตินุ่ม เม็ดโต ต้านทานต่อโรค และแมลง และสามารถลดต้นทุนจากการชื้อเมล็ดพันธุ์ สร้างความยั่งยืนในสายพันธุ์ข้าวไทยต่อไป
 
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น