ตรัง - ผู้ว่าฯ ตรัง เตรียมพร้อมรับมือม็อบสวนยาง หลังมีข่าวรวมตัวเคลื่อนไหวในพื้นที่ ย้ำเร่งหาทางแก้ปัญหาราคาตกอย่างเต็มที่แล้ว ด้านกลุ่มเกษตรกรโวยเงินชดเชยไร่ละ 1,500 ยังไม่ได้รับอีกเยอะ
วันนี้ (9 ม.ค.) นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า กรณีที่จะมีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราในภาคใต้ออกมาเคลื่อนไหวจากปัญหาราคาตกต่ำนั้น ตนได้สั่งการให้ทางตำรวจจับตาเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด และทราบว่า กลุ่มเกษตรกรจะมาประชุมที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางพาราจังหวัดตรัง ในช่วงสัปดาห์หน้านั้น โดยจะให้เจ้าหน้าที่ช่วยดูแล อำนวยความสะดวก จัดระเบียบ และคิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุวุ่นวาย เพราะกลุ่มที่ประชุมก็เป็นผู้ที่มีเหตุผลที่ต้องการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้ลุล่วง
สำหรับสภาพปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จนทำให้เกษตรกรออกมาเคลื่อนไหวนั้น จ.ตรัง ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการสร้างความเข้มแข็งให้ชาวสวน พร้อมมีการวิเคราะห์ว่า ทำไมราคายางในช่วงต้นปีนี้จึงตกอย่างผิดสังเกต เหลือกิโกกรัมละ 25 บาท หรือ 4 กิโลกรัมต่อ 100 บาท ซึ่งพบว่าสาเหตุเกิดจากการผันผวนของตลาดหุ้นจีน ทำให้บรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงยางพาราได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้ราคาตกต่ำ ประกอบกับสต๊อกยางในจีนเองก็มีอยู่มาก และไทยเองก็มีปริมาณยางเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น จ.ตรัง จึงได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาตามมาตรการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ด้วยการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวสวนยาง รวมทั้งผู้กรีดยางไปแล้วกว่า 3 ล้านบาท แต่ก็ยังมีปัญหาความล่าช้าในเรื่องของการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่รายละเอียดมาก และต้องตรวจสอบเอกสารให้แน่ชัด พร้อมทั้งได้ประสานให้สหกรณ์ทุกแห่งเร่งรัดในการดูแลสมาชิกของตนเอง ด้วยการดำเนินการขายยางให้ได้ราคาไม่ต่ำกว่าราคากลางที่ประกาศ และให้สหกรณ์เร่งเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแปรรูปยางพารา เช่น หมอนยางพารา ยางคอมปาวด์ ตลอดจนสนับสนับสนุนให้ภาคเอกชนก่อสร้างโรงงานแปรรูปยาง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณการใช้น้ำยางสูงขึ้น
ด้าน นายสมคิด สังขมณี ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง กล่าวว่า ได้มีการประชุมสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากราคาตกต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีกระแสข่าวว่าจะมีกลุ่มองค์กรชาวสวนยางพาราในภาคใต้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนนั้น สภาเกษตรกรจังหวัดตรัง จะร่วมนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อให้หน่วยงานรับผิดชอบได้ขับเคลื่อนทั้งในระดับจังหวัด กระทรวง จนถึงนายกรัฐมนตรี
สำหรับปัญหาเร่งด่วนที่ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจะช่วยได้ในขณะนี้ก็คือ การขับเคลื่อนให้เกษตรกรมีอาชีพเสริม เพื่อเอารายได้มาชดเชยราคายางพาราที่ตกต่ำ ส่วนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 15 ไร่นั้น ทางรัฐบาลก็ต้องรีบดำเนินการเอาเงินส่วนนี้มาจ่าย เพราะยังเหลืออีกมากที่ไม่ได้รับ ยิ่งขณะนี้ตรงกับช่วงหยุดกรีดยาง เกษตรกรจะไม่มีรายได้อะไรเลย จึงเกิดความเดือดร้อนอย่างมาก