“ยังจับใครไม่ได้ และยังไม่มีอะไรคืบหน้า”
นี่คือคำตอบของนายตำรวจระดับสูงของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เกี่ยวกับคดีคนร้ายใช้อาวุธสงครามถล่มรถเบนซ์หรูของ “มิสเตอร์ลี อาฮง” นักธุรกิจพันล้าน มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ชาวมาเลเซีย ที่เข้ามาสยายปีกที่ “ด่านนอก” หรือบ้านไทยจังโหลน เขตเทศบาลตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา และได้รุกเข้าสู่พื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยก่อนที่จะเสียชีวิตได้เข้าซื้อ “โครงการหมู่บ้านประกายทอง” บ้านท่าท้อน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จากนักการเมืองระดับชาติคนหนึ่ง
ในทางการสอบสวนเจ้าหน้าที่นั้น ได้ให้น้ำหนักไปที่ความขัดแย้งในเรื่องการซื้อ-ขาย อสังหาริมทรัพย์ระหว่างผู้ตายกับ “เฮีย ก.” ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวมาเลเซีย เจ้าโรงแรมในตลาดไทยจังโหลน เนื่องจากมีการจ่ายเช็คเด้งให้แก่ผู้ตายจำนวนกว่า 30 ล้านริงกิต ส่วนในประเด็นการซื้อโครงการหมู่บ้านประกายทอง ยังอยู่ระหว่างหาข้อมูลของความขัดแย้ง
ในขณะที่ภรรยาของผู้ตายที่รอดชีวิตได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ โดยมุ่งประเด็นเรื่องหนี้สินระหว่างผู้ตาย กับ “เฮีย ก.” เช่นกัน
ล่าสุด แหล่งข่าวผู้คร่ำหวดในพื้นที่เปิดเผยว่า หลังจากมีข่าวเรื่องมาเฟียมาข้ามชาติชาวมาเลเซียที่เข้ามากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่บ้านไทยจังโหลน โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐให้การสนับสนุน เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกันเผยแพร่ออกมา
ปรากฏว่า พล.ต.ท.วีรพงษ์ ชื่นภักดี ผบช.ภ.9 ได้ให้ความสนใจในประเด็นที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงของ บชภ.9 เข้าไป “เอี่ยว” กับกลุ่มมาเฟียข้ามชาติดังกล่าว และการให้ความช่วยเหลือหรือคุ้มครองในธุรกิจผิดกฎหมาย โดยได้สั่งการให้มีการตรวจสอบว่า นายตำรวจระดับสูงที่เข้าไปสนับสนุนกลุ่มมาเฟียมาเลเซียในธุรกิจผิดกฎหมายที่บ้านไทยจังโหลนมีใครบ้าง
ในขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มมาเฟียในพื้นที่พยายามที่จะตรวจสอบว่า ผู้สื่อข่าวที่นำเสนอข่าวนี้เป็นใคร โดยการเข้าไปสอบถามกับผู้สื่อข่าวในพื้นที่ด้วย
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ข่าวคราวเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ และการใช้สถานบันเทิงเป็นแหล่งกระจายเสพยาเสพติดต่างๆ ได้ทำให้ตำรวจ และฝ่ายปกครองสั่งให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้มงวด โดยมีการสั่งคำไว้กับเจ้าของกิจกรรมให้ระวังป้องกันอย่าได้ทำธุรกิจเหล่านี้อย่างประเจิดประเจ้อ เพราะเกรงเจ้าหน้าที่ “นอกหน่วย” จะเข้าไปจับกุม
ในขณะที่ธุรกิจการค้ามนุษย์ในบ้านไทยจังโหลน ถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการตรวจสอบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สามารถที่จะตรวจสอบได้จากสถานบันเทิงประเภทคาราโอเกะ และนวดแผนโบราณ รวมทั้งอื่นๆ โดยยกตัวอย่างสถานบันเทิงแห่งหนึ่งที่มีหญิงต่างชาติเข้ามาทำงานเป็น “แม่บ้าน” โดยสำนักงานจัดหางานออกเอกสารการทำงานให้ถึง 200 คน ในบ้านแค่หลังเดียว ซึ่งตำแหน่งงานที่เจ้าหน้าที่ออกให้ก็คือ การขายบริการนั่นเอง
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีหญิงสาวจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวนมากที่ถือหนังสือเดินทางถูกต้อง โดยเข้าไปอาศัยทำงานในสถานบันเทิงอย่างผิดกฎหมายเพื่อรอการข้ามแดนไปยังประเทศที่สาม
แหล่งข่าวระบุอีกว่า ธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นของชาวมาเลเซีย โดยมีคนไทยเป็นนอมินี และมีการจ่ายใต้โต๊ะให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ฝ่ายปกครอง ตรวจคนเข้าเมือง และจัดหางานเป็นรายหัว เพื่อให้สามารถทำธุรกิจผิดกฎหมายโดยไม่ถูกจับกุม
เช่นเดียวกับธุรกิจการค้ายาเสพติดที่เป็นทำเงินได้อย่างมหาศาลในพื้นที่บ้านไทยจังโหลน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้ความคุ้มครอง มีการเรียกเก็บเงินค่าคุ้มครอง หรือค่าอำนวยความสะดวกเป็นบ้านๆ หรือเป็นซอยๆ เพื่อป้องกันมิให้มีการตรวจค้นจับกุม รวมถึงป้องกัน “หน่วยนอก” เข้าไปดำเนินการด้วย
ในขณะที่แหล่งข่าวของตำรวจในรัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ให้ข้อมูลว่า สถิติการก่อคดีอาชญากรรมในรัฐเกดะห์สูงขึ้นในทุกปี สืบเนื่องจากชาวมาเลเซียในพื้นที่แนวชายแดนได้รับการฝึกการใช้อาวุธ และซื้ออาวุธจากฝั่งไทยเพื่อใช้ในการก่ออาชญากรรมในฝั่งมาเลเซีย
เรื่องนี้สอดรับต่อความเป็นจริงของตลาดไทยจังโหลน หรือด่านนอก ที่มีกลุ่มมาเฟียมาเลเซียเข้าไปฝึกการยิงปืน ทั้งปืนสั้น ปืนยาว ณ สนามยิงปืนของ ตชด.ที่ตั้งอยู่ใน ต.สำนักขาม และมีการซื้ออาวุธปืนเป็นจำนวนมากของนักธุรกิจมาเลเซีย โดยซื้อในนามของคนไทยที่เป็นลูกน้อง หรือผู้หญิงที่เป็นผู้ดูแลกิจการ โดยจะมีผู้พบเห็นอย่างคุ้นตาคือ ชาวมาเลเซียที่อยู่ในกลุ่มของมาเฟียพกปืนเป็นจำนวนมาก และหากมีการตรวจค้นก็จะส่งให้แก่ลูกน้องที่เดินตามหลัง ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติของเมืองชายแดนแห่งนี้
ด้านแหล่งข่าวฝ่ายความมั่นคงของรัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย เพิ่มเติมข้อมูลว่า เมื่อหลายเดือนก่อนมีเหตุ จยย.บอมบ์เกิดขึ้นที่ อ.กัวมูสัง รัฐเกดะห์ พื้นที่ติดกับชายแดนไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ซึ่งจากการสืบสวนในทางลับพบว่า รถ จยย.บอมบ์คันดังกล่าวคนร้ายซื้อไปจากกชาวไทยที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อใช้ในการก่อเหตุ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในพื้นที่กล่าวเสริมว่า ธุรกิจทุกอย่างในเมืองชายแดนแห่งนี้กำลังกลายเป็นของชาวมาเลเซียเกือบทั้งหมด แม้แต่งานรับเหมาก่อสร้าง งานบริการ บ้านเช่า หอพัก อพาร์ตเมนต์ โรงแรม และสถานบันเทิง และที่น่าเป็นห่วงคือ ธุรกิจที่ผิดกฎหมายที่ทำในหาดใหญ่ หรือเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ไม่ได้ แต่สามารถทำได้ทุกอย่างที่เมืองชายแดนแห่งนี้
เนื่องเพราะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ ต่างไม่ได้ให้ความสนใจในการเข้าไปตรวจสอบในเรื่องธุรกิจผิดกฎหมายที่เป็นของกลุ่มมาเฟียเหล่านี้ และแม้แต่ในยุคที่ คสช.นั่งบริหารประเทศอยู่ในเวลานี้ หน่วยงานความมั่นคงก็ไม่เคยที่จะกล้าแตะต้องการสยายปีกของมาเฟียชาวมาเลเซียแต่อย่างใด
ดังนั้น คนในพื้นที่จึงเชื่อว่าการเสียชีวิตของ “มิสเตอร์ลี อาฮง” จะเป็นการ “ตายเปล่า” เหมือนกับชาวมาเลเซียจำนวนมากที่มาเสียชีวิตในบ้านไทยจังโหลน หรือใน จ.สงขลา เพราะเชื่อว่าผู้ที่บงการเป็นผู้กว้างขวาง และมีอิทธิพลในพื้นที่ แถมเป็นหุ้นส่วนในการทำธุรกิจหมื่นล้านในเรื่องอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย
ที่สำคัญที่สุดคือ มีเจ้าหน้าที่รัฐให้การสนับสนุน และให้การคุ้มครองมาอย่างยาวนาน บางคนกลายเป็น “หุ้นส่วน” ทางธุรกิจไปโดยปริยาย และมีผู้เชื่อว่าแม้แต่การสังหาร “มิสเตอร์ลี” อาจจะเป็นการส่งสัญญาณ “ไฟเขียว” จากเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นหุ้นส่วนกับผู้บงการก็เป็นได้ทั้งสิ้น