xs
xsm
sm
md
lg

“หวังคนไทยได้เห็นรอยยิ้มในหลวง” เบื้องหลัง “จิมมี่ ชวาลา” มอบ 28 ล.บูรณะพระบรมธาตุนครฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จิมมี่ ชวาลา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “จิมมี่ ชวาลา” มหาเศรษฐีเมืองคอน เปิดใจบริจาคเงิน 28 ล้านบาท บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ใช้เวลาตัดสินใจไม่ถึง 40 วินาที ตั้งใจให้คนไทยได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแย้มพระสรวลที่ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวไทย ชาวนครศรีธรรมราช สมัครสมานสามัคคีร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เผยประวัติชอบช่วยเหลือสังคมมานาน ด้านสำนักศิลปากรที่ 14 เตรียมกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตบูรณะปลียอดพระบรมธาตุตามแผน

ภายหลังจากการประกาศมอบเงิน จำนวน 28 ล้านบาท ของนายจิมมี่ ชวาลา อายุ 58 ปี นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายอินเดีย ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อจัดซื้อทองคำ 20 กิโลกรัม ขึ้นบูรณะปลียอดทองคำองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

ล่าสุด ได้มีการปรับแผนการบริจาคได้ร่วมหารือกับ นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ พล.ต.ธีร์ณฉัฎ จินดาเงิน ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 41 ซึ่งพบว่ามีข้อจำกัดเรื่องการใช้จ่ายเงินของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งตามระเบียบหากนำเงินบริจาคมาบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช จะเป็นการใช้เงินที่ผิดวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ที่มุ่งไปในทางการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ และได้รับความเดือดร้อนในด้านต่างๆ
 

 
จึงมีการปรับแผนด้วยการเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อดูแลเงินจำนวนนี้ให้มีการใช้จ่ายไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งหากทางจังหวัดมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้ว นายจิมมี่ จึงจะส่งมอบเงินก้อนดังกล่าวให้เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

นายจิมมี่ ชวาลา เปิดเผยถึงความตั้งใจในการบริจาคเงิน จำนวน 28 ล้านบาท ว่า หลังจากได้ร่วมสวดมนต์โภชฌังคปริตร ถวายพระบาทสมเด็จพระเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีการพูดคุยกับรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งได้กล่าวถึงสภาพความทรุดโทรมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงตัดสินใจบริจาคเงิน ใช้เวลาตัดสินใจไม่ถึง 40 วินาที โดยครั้งแรกตั้งใจบริจาคผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อหวังให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแย้มพระสรวลที่ทรงทอดพระเนตรเห็นชาวไทย ชาวนครศรีธรรมราช ตั้งใจที่จะร่วมกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

“แค่เพียงพระองค์ทรงแย้มพระสรวลเชื่อว่าพวกเรามีความสุขมาก แม้ว่าเงินจำนวน 28 ล้านจะเป็นเงินที่มาก แท้จริงแล้วไม่ใช่เงินของผม เป็นเงินที่ชาวนครศรีธรรมราช และลูกค้าเข้าไปอุดหนุน เงินทั้งหมดผมเพียงเป็นไปรษณีย์ส่งต่อ ทุกบาททุกสตางค์จึงบริจาคในนามชาวนครศรีธรรมราชทุกคน ไม่ใช่ในนามของนายจิมมี่ ชวาลา สิ่งที่ผมสูญเสียไปคือ ความยึดมั่นความเป็นของเรา ตัวเรา จึงทำให้รู้สึกเบาสบาย” นายจิมมี่ กล่าว
 
 

 
สำหรับประวัติของ นายจิมมี่ ชวาลา เรียนจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนชูศิลป์วิทยา ขณะนั้นตั้งอยู่ในวัดบูรณาราม อ.เมืองนครศรีธรรมราช พอจบชั้นประถมปีที่ 2 ครอบครัวตัดสินใจส่งไปศึกษาต่อจากคลาส 2 ถึงคลาส 9 ที่ Wynberg Allen Hight School ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่ครูอาจารย์เป็นชาวยุโรป โรงเรียนตั้งอยู่ที่ Mussoorie City ใน Uttra Pradesh State ประเทศอินเดีย และศึกษาต่อระดับ 10-11 ที่ Bishop-Cotton School ที่ Simla City ใน Himachal Pradesh State ประเทศอินเดีย

“ผมทราบเพียงคร่าวๆ ว่า ถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษตอนนี้อยู่ในรัฐที่เป็นของปากีสถานไปแล้ว อยู่ใกล้ๆ ปัญจาบ พอมีการแบ่งประเทศ สื่อสารกันไม่ได้แต่รู้ว่าต่างฝ่ายยังอยู่ ผมยังหวนหาบรรพบุรุษของผมอยู่จนทุกวันนี้”

ปู่ของจิมมี่ชื่อ นายเดสราช ชวาลา (Desraj Chawala) ย่าชื่อ นางวิทยา ขันตี ชวาลา (Vidya Wanti Chawala)

“คิดดูสิครับ เฉพาะร้านจิมมี่ตั้งเมื่อปี 2500 ก่อนหน้านั้นอีกล่ะ เมื่อก่อนร้านนี้ชื่อร้านนายชม ร้านของคุณทวดคุณปู่ ทำไมทวดจึงตั้งชื่อนี้ เพราะว่าปู่เป็นคนพูดดี ปู่จะพูดชมคนทุกคน จนคนเปลี่ยนชื่อจากนายเดชราช เป็นนายชม ผมพยายามรวบรวมหลักฐานว่าร้านนายชม กับร้านจิมมี่ รวมกันแล้วครบ 100 ปีเมื่อไหร่ ผมจะจัดงานสักครั้ง ตระกูลชวาลาในเมืองนคร ผมคิดว่านับตั้งแต่คุณทวดคุณปู่จนถึงร้านจิมมี่ น่าจะราวๆ 97-98 ปีแล้ว”

พ่อของจิมมี่ชื่อนายราม ชวาลา (Ram Chawala) คุณแม่ชื่อนางยานกี เดวี ชวาลา (Janki Devi Chawala) ก่อนแต่งงาน ก่อนออกตลาดขายผ้าอย่างจริงจัง นายราม ต้องต่อสู้อย่างปากกัดตีนถีบ เป็นอย่างนั้นจริงๆ นายราม เป็นนักมวยชื่อรามซิงค์ ศิษย์สุริยา รูปร่างใหญ่ กล้ามเนื้อหนักแน่น แข้งขาเล็กเตะไม่เก่งนัก แต่หมัดหนัก ศอกคม ถ้าต่อยคู่ต่อสู้ไม่ล้มภายในสามยก ยกต่อๆ ไป คู่ต่อสู้จะเตะขาจนพี่เลี้ยงต้องโยนผ้ายอมแพ้ นักมวยชื่อเสียงโด่งดังร่วมยุค ได้แก่ ยูโซ๊ะ ม่วงดี ชาวมุสลิมบ้านนาเคียน และ ยงซิ้น ขวานเพชร ค่ายมวยอยู่หลังร้านใกล้ๆ โรงแรมสากล (ตอนนี้เป็นแผงขายเสื้อผ้าจากสำเพ็ง และโบ๊เบ๊)

“ผมไม่ได้ดูคุณพ่อต่อยมวย ผมเกิดไม่ทัน พ่อต่อยช่วงปี 2493-2499 รวมกัน 83 ครั้ง ต่อยคู่เอกหรือรองคู่เอกอย่างมากค่าตัวก็แค่ 800 บาท รวบรวมไว้ 40,000 บาท พร้อมกับทองที่แม่ได้ติดตัววันแต่งงาน สมัยนั้นบาทละ 400 รวมกันได้เริ่มต้นซื้อผ้ามา 17-18 กล่อง สมัยนั้นผ้าเอาใส่กล่องแฟ้บ กล่องบรีส ได้ผ้ามาออกตลาดขายก็ด้วยน้ำพักน้ำแรงน้ำเหงื่อของพ่อ”

สังเวียนมวยไทยในอดีตมีชาวอินเดียไม่กี่คนที่ก้าวขึ้นเวทีชกมวยอาชีพ อาจมีราม ซิงค์ ศิษย์สุริยา เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ต่อสู้ก่อร่างสร้างตัวด้วยความมานะบากบั่นอย่างที่สุด
 

 
ปี 2539 จิมมี่ สร้างศาลา และนำรูปปั้นพ่อท่านคล้ายวางไว้ชาวบ้านเรียก “ศาลาพ่อท่านคล้าย” อยู่ที่ริมถนน ต.บางจาก ทางไป อ.ปากพนัง เขาตั้งใจสร้างอุทิศส่วนกุศลให้คุณพ่อคุณแม่ ให้ประชาชนผู้ศรัทธาได้มีโอกาสได้ไหว้ขอพร โดยวางกล่องรับบริจาคไว้กล่องหนึ่ง ใครจะทำบุญ จะแก้บน ว่ากันตามกำลังศรัทธา ต่อมา เขาแนะนำให้ตั้งคณะกรรมการการดูแลเมื่อเปิดกล่องแล้วให้นำเงินมาทำอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนโรงเรียนในละแวกนั้น 5 โรงเรียนได้รับประทานวันละ 200 คน

“เรื่องอาหารกลางวันผมทำมา 13 ปีแล้ว ตรงนั้นจะจ้างแม่ครัวทำอาหารให้เด็กได้กินทุกวันที่โรงเรียนเปิด”

จิมมี่ เล่าถึงแรงกระตุ้นอันเป็นมาที่มาของอาหารเที่ยง วันหนึ่งเขารู้สึกแปลกใจอย่างมาก เมื่อไปเยี่ยมโรงเรียนแถวนั้นแล้วเห็นนักเรียนชายกลุ่มหนึ่งไล่เตะลูกฟุตบอลในสนามอย่างไม่กลัวแดด ขณะที่เด็กนักเรียนจำนวนมากกำลังรับประทานอาหารกลางวัน เขาเองเป็นนักฟุตบอลฝีเท้าดีคนหนึ่ง จึงให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ต่อมา จึงได้รับคำตอบว่าเด็กเหล่านั้นเล่นอย่างบ้าคลั่งเพราะต้องการวิ่งไล่เตะลูกฟุตบอลให้ลืมอาหารมื้อเที่ยง ไล่เตะเวลาช่วงทรมานให้หมดนั่นเองนอกจากอาหารกลางวัน ชาวบ้านละแวกศาลาพ่อท่านคล้าย ยังได้งานเย็บผ้าถุงจากร้านจิมมี่ในราคาที่เขาต้องจ่ายค่าเย็บแพงกว่ากรุงเทพฯ

นอกจากเงิน เขายังได้บริจาคเลือดในกายไปแล้ว 70 กว่าครั้ง การบริจาคครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อสมัยยังหนุ่มแน่น พนักงานโรงแรมคนหนึ่งตกจากตึกถูกสังกะสีบาดตั้งแต่หัวไหล่จนถึงลำตัว ต้องเย็บเกือบ 200 เข็ม พนักงานคนนั้นเสียเลือดมาก จิมมี่ทราบข่าวรีบออกจากร้านไปบริจาคเลือดเสร็จเรียบร้อยแล้วยังกังวลว่าเลือดจะไม่พอ จึงยื่นแขนอีกข้างให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแต่ถูกปฏิเสธ เขาจึงรีบกลับบ้านโกนหนวดโกนเคราทิ้ง แล้วกลับไปบริจาคใหม่ด้วยแขนข้างที่เพิ่งถูกปฏิเสธ

ปลายปี 2531 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในเมืองนครฯ จังหวัดเปิดรับบริจาคที่ศาลากลาง จิมมี่นำเสื้อผ้าไปบริจาคด้วยตัวเอง แล้วพบรถสิบล้อนำข้าวสารมาลงแต่ไม่มีคนช่วยแบก ด้วยเกรงว่าชาวบ้านรอบนอกจะอดข้าวหลายวัน จึงอาสาแบกทันที แล้วให้คนไปตามสามล้อที่แข็งแรงมาช่วย โดยเขาเป็นคนจ่ายค่าแรงให้สามล้อ ตอนกลับถึงบ้านถูกแม่ตีว่าผ้าที่บ้านก็ถูกน้ำท่วม ขนย้ายไม่ทันจำนวนมาก

ข้าวสารหนักกระสอบละ 100 กิโลกรัม ทำให้กระดูกสันหลังจิมมี่เคลื่อนมาจนทุกวันนี้ แต่น่าแปลกที่ไม่เคยสร้างความเจ็บปวดแก่เขาเลย
 

 
จิมมี่ บอกว่า เขาทำงานเสร็จเป็นวันๆ ทำให้เสร็จในแต่ละวัน ทำเสร็จแล้ววางไว้ ตื่นขึ้นมาตอนสายๆ จะได้รู้ว่ายังพอมีอะไรให้ทำอีก จิมมี่ทำงานหนักมาก แม้จะไม่เท่ายุคก่อร่างสร้างตัวของบรรพบุรุษ ผลกำไรถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก ใช้จ่ายในการบริหารจัดการร้าน ส่วนที่สอง เป็นความไม่ประมาทเขาเก็บไว้เป็นทุนยามเกิดปัญหา หรือเกิดวิกฤต ส่วนที่สาม ไว้ทำบุญ

ทุกวันนี้ จิมมี่ ชวาลา ดำเนินชีวิตโดยยึดถือหลัก 3 น้ำ คือ 1.น้ำเหงื่อพ่อ สูงสุดเหนือสิ่งอื่นใดคือพระเสโท หรือน้ำเหงื่อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เขายึดเป็นแบบอย่างในการทำงาน ยึดคำสอนของพระองค์ท่านเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ทั้งเรียกร้องให้คนไทยมองให้เห็นคุณค่าในน้ำเหงื่อพ่อ 2.น้ำนมแม่ นอกจากอินเดียอันเป็นมาตุภูมิของบรรพบุรุษเมืองไทยเป็นมาตุภูมิอันรักยิ่งของเขา เขารักแม่ เขารักพระแม่ธรณีที่ให้ชีวิตเติบใหญ่ผืนนี้ จึงไม่เคยท้อแท้ในการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือมาตุภูมิ และ 3.น้ำใจเพื่อน ไม่ใช่ระหว่างเพื่อนต่อเพื่อนอีกต่อไป หากถูกยกระดับเป็นเพื่อนร่วมสังคม เพื่อนร่วมชาติ เพื่อนร่วมทุกข์ เพื่อนร่วมโลก เขาถามหาสันติสุขอันจะเกิดขึ้นในสังคม ในประเทศอันเป็นที่รัก และสากลโลก

สำหรับการบูรณะปลียอดพระบรมธาตุนั้น นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสรุปแผนการซ่อมบำรุงแล้ว โดยในขณะนี้ได้เสนอไปยังอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อนำความเข้ากราบบังคมทูลทรงทราบถึงสภาพปัญหา และความจำเป็นในการบูรณะ เพื่อทรงมีพระบรมราชานุญาต หลังจากนั้นจะมีการบูรณะในเร็วๆ นี้โดย กลุ่มงานโลหะประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่กรมศิลปากร

“เราต้องรื้อในส่วนที่ชำรุดที่เกิดจากการชำรุดตามเวลา วัสดุที่เป็นปัญหาคือ ที่บุกอยู่ใต้แผ่นทองต้องรื้อแผ่นทองออกเพื่อแก้ไข อีกส่วนที่เป็นปัญหาคือ ตะปูตรึงกลีบบัวทองคำต้องถอดออกและเปลี่ยน การดำเนินการเรามีแผนใน 2 ส่วนคือ กลีบบัวทองคำ และปลียอดทองคำ ซึ่งต้องระวังอย่างมากให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งจะต้องนำมาหลอม และรีดใหม่ในส่วนนี้จะการหลอมนั้นจะมีอัตราการสูญเสียที่ภาษาช่างเรียกว่า “ค่าสูญเพลิง” คือ เป็นการสลายตัวไปกับไฟ ทองคำ 1 บาท จะสูญเพลิงไปประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์” ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 กล่าว
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น