xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภ.4 เผยกรณีตรวจ “ดีเอ็นเอ” เด็ก 5 เดือนหวังเพิ่มประสิทธิภาพในการจับ “เสรี แวมามุ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - กอ.รมน.ภาค 4 สน. ชี้แจงกรณีตรวจ DNA เด็กอายุ 5 เดือน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อ ปชช. หลังมีการนำเสนอข่าว เผยการตรวจเพื่อทราบถึง DNA นายเสรี แวมามุ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงไว้เปรียบเทียบในสารบบ และเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามจับกุมได้ตรงตัว

วันนี้ (25 พ.ย.) พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจ DNA ของเด็กอายุ 5 เดือน จนนำไปสู่การขยายความตามสื่อต่างๆ ทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปตามขั้นตอน โปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจดังนี้

เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 58 โดยร่วมสามฝ่ายสนธิกำลังในการค้นหากลุ่มก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยได้เข้าปิดล้อมและตรวจค้นบ้านเลขที่ 57/1 ม.1 บ.ดอนรัก ต.ดอนรัก อ.หนองจิก พร้อมเชิญตัว นายมาอุเซ็น แวจิ น.ส.ซอมารีย๊ะ มะลี ซึ่งเป็นภรรยาของ นายเสรี แวมามุ น.ส.เจ๊ะปาตีเมาะ แวกะจิ มาซักถามข้อมูลที่ สภ.หนองจิก เพื่อบันทึกการตรวจค้น ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน โดยไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

การสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายปิดล้อม และตรวจค้น บ้านเลขที่ 57/1 ม.1 บ.ดอนรัก ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในครั้งนี้ มีผู้นำหมู่บ้านซึ่งเป็นกำนันอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตลอดเวลา และได้เดินทางมายัง สภ.หนองจิก กับผู้ถูกเชิญตัว ซึ่งในการเชิญตัวบุคคลดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจเก็บสารทางพันธุกรรม DNA ลายพิมพ์/ลายนิ้วมือของบุคคลประกอบด้วย 1.นายมาอุเซ็น แวจิ 2.น.ส.ซอมารีย๊ะ มะลี 3.น.ส.เจ๊ะปาตีเมาะ แวกะจิ 4.ด.ช.ชาลีฟ มะลี (อายุ 5 เดือน) ซึ่งบุคคลทั้งหมดนี้มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ นายนายเสรี แวมามุ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงหลายคดี

อีกทั้งในการเก็บ DNA ของทุกคน เจ้าหน้าที่ได้มีการจัดทำเอกสารเพื่อให้มีการเซ็นยินยอมไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งในระหว่างการตรวจ DNA ก็มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในเหตุการณ์ตลอด สำหรับการเก็บ DNA ของ ด.ช.ชาลีฟ มะลี อายุ 5 เดือน ซึ่งเป็นลูกชายของ นายเสรี แวมามุ นั้น เจ้าหน้าที่ได้ใช้สำลีพันก้านเข้าไปในช่องปากเพื่อเก็บน้ำลายข้างกระพุ้งแก้มมาตรวจหาสาร DNA ซึ่งการตรวจ DNA ในครั้งนี้มีความสำคัญมาก การตรวจเก็บสารทางพันธุกรรม DNA ของน้องชาลีฟ มะลี การตรวจของลูกจะมี DNA ของพ่อบวกกัน เมื่อตรวจของลูกจะได้ของพ่อด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ไม่เคยมีตัวอย่าง DNA ของ นายเสรี แวมามุ มาก่อน นายเสรี เคยทำอะไรไว้จะได้เปรียบเทียบในสารบบก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามจับกุมได้แม่นยำตรงตัว ซึ่งหากไม่แม่นด้วยหลักฐาน ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะโดนถูกกล่าวหาว่าเป็นการกลั่นแกล้ง

สำหรับ นายเสรี แวมามุ มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 123 ม. 6 ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งมีหมายจับติดตัว 12 คดี รับผิดชอบเคลื่อนไหวในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี และ อ.เทพา จ.สงขลา นายเสรี เป็นผู้ต้องหาในจำนวน 100 คน ตามปฏิทินหมายจับปี 2558 ของ ศชต. ซึ่งเป็นคนร้ายคนแรกตามภาพวงจรปิด ซึ่งเป็นตัวจริง และมีพยานยืนยันชัดเจนว่า เป็นมือวางระเบิดศูนย์การค้าลีการ์เด้นส์พลาซ่า กลางเมืองหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.55 มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บหลายร้อยคน นอกจากนี้ นายเสรี แวมามุ ยังมีคดีอื่นอีกหลายคดี เช่น คดีใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 กราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต 3 ศพ และบาดเจ็บ 8 คน หน้าร้านขายของชำเลขที่ 57/1 ม.8 บ้านหนองสาหร่าย ต.ท่าม่วง อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 พ.ย.57

พฤติกรรมของ นายเสรี แวมามุ ซึ่งเป็นสมาชิกผู่ก่อการร้าย ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่มีความโหดเหี้ยม ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งข้อหา 8 ข้อหา คือ ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ และทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย, ร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันสะสมกำลังพล หรืออาวุธ หรือรวบรวมทรัพย์สิน หรือกระทำผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีการก่อการร้ายแล้วกระทำการใด ๆ อันเป็นการช่วยปกปิดไว้, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร เพื่อการก่อการร้าย และร่วมทำมีใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

ซึ่งการมี DNA ของนายเสรี จะเป็นประโยชน์ในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจะสามารถหยุดการกระทำอันโหดเหี้ยมดังกล่าว และจะเป็นการป้องกันผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ได้รับผลกระทบต่อการกระทำของเขาอีกต่อไป
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น