xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “สัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์” ผู้นำพา อบจ.สตูลสู่ทำเนียบรางวัลพระปกเกล้า 6 ปีซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
แกะกระดุมคอพูดคุยกับ “นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล ผู้นำพาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับจังหวัดชายแดนเล็กๆ ด้านฝั่งทะเลอันดามัน ใต้สุดปลายแผ่นดินด้ามขวานไทย ให้ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบรางวัลเกียรติยศของ “สถาบันพระปกเกล้า” มาแล้วหลายรางวัล
 

 
*** ก่อนอื่นอยากให้เล่าถึงรายละเอียดการมอบรางวัลให้ อปท.ของสถาบันพระปกเกล้า
 
สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของประธานรัฐสภา มีพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาความรู้ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงได้จัดให้มีการมอบรางวัลพระปกเกล้า และใบประกาศเกียรติคุณสถาบันพระปกเกล้าขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา
 
โดยจัดให้มีการมอบรางวัลพระปกเกล้าใน 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 รางวัลพระปกเกล้าสำหรับ อปท.ที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใส และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และกระตุ้นให้ อปท.ตระหนักถึงความสำคัญของหลักธรรมาภิบาลในการปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักความโปร่งใสในการบริหารงาน และหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานของ อปท.
 
ด้านที่ 2 รางวัลพระปกเกล้าสำหรับ อปท.ที่มีความเป็นเลิศด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ อปท.ในฐานะเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลรักษาความสงบ ตลอดจนปลุกจิตสำนึกแห่งพลังความสามัคคีของคนในพื้นที่ ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะก่อให้เกิดความสันติสุขสมานฉันท์ในระดับชาติ
 
ด้านที่ 3 รางวัลพระปกเกล้าสำหรับ อปท.ที่มีความเป็นเลิศด้านการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชนและประชาสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ อปท.ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่บริหารจัดการท้องถิ่น ให้สามารถร่วมมือกับเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการร่วมมือพัฒนาท้องถิ่นไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน
 

 
*** ทราบมาว่าทางสถาบันพระปกเกล้ามีการตั้งรางวัลพิเศษขึ้นมาด้วย
 
การมอบรางวัลพระปกเกล้าแก่ อปท.ทั้ง 3 ประเภทรางวัล แบ่งการมอบรางวัลพระปกเกล้าออกเป็น 2 ประเภท คือ โล่รางวัลพระปกเกล้า พร้อมใบประกาศเกียรติคุณสถาบันพระปกเกล้า มอบให้แก่ อปท.ที่ผ่านการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการฯ แล้วว่ามีความเป็นเลิศในด้านนั้นๆ
 
ใบประกาศเกียรติคุณสถาบันพระปกเกล้า มอบให้แก่ อปท.ที่ผ่านการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการฯ แล้วว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ในด้านนั้นๆ
 
สถาบันพระปกเกล้ากำหนดให้มีรางวัลพระปกเกล้าประเภท “รางวัลพระปกเกล้าทองคำ” ซึ่งจะมอบให้แก่ อปท.ที่เคยได้รับรางวัลพระปกเกล้าในระดับเป็นเลิศในด้านเดียวกันมาแล้ว 2 ครั้ง ในระยะเวลา 5 ปีนับย้อนหลังไป ซึ่งรางวัลพระปกเกล้าทองคำจะมีขึ้นทุกๆ 2 ปี
 

 
*** แล้วในส่วนของ อบจ.สตูลเองเคยได้รางวัลจากสถาบันพระปกเกล้าที่ผ่านมามีอะไรบ้าง 
 
อบจ.สตูล ได้สมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลพระปกเกล้ามาตั้งแต่ปี 2553 ดังนี้ ปี 2553-2555 ได้รับโล่รางวัลพระปกเกล้า พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ อปท.ที่มีความเป็นเลิศด้านการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์
 
โดยในปี 2555 ได้รางวัลพระปกเกล้าทองคำ 
 
ปี 2556-2557 เราได้รับโล่รางวัลพระปกเกล้าพร้อมใบประกาศเกียรติคุณ อปท.ที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ปี 2558 เป็นปีแรกที่ อบจ.สตูล ได้รับโล่รางวัลพระปกเกล้าพร้อมใบประกาศเกียรติคุณ อปท.ที่มีความเป็นเลิศด้านเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชนและประชาสังคม
 
และในปี 2559 นี้ อบจ.สตูล มุ่งหวังที่จะคว้าโล่รางวัลพระปกเกล้าทองคำ ประเภทความโปร่งใสและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกด้วย 
 

 
*** สำหรับโครงการต่างๆ ของ อบจ.สตูลที่เราส่งเข้าไปให้สถาบันพระปกเกล้าพิจารณาในปีนี้มีอะไรบ้าง แล้วมีรายละเอียดไหม
 
เราก็รู้สึกยินดี ดีใจที่การทำงานที่ผ่านมาได้รับการยอมรับจากสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งเป็นองค์กรที่มีมาตรฐานในการทำงานสูง เป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศ
 
สำหรับรางวัลนี้ที่ได้มา เพราะพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ลำพังถ้าทำเฉพาะ อบจ.สตูลเอง สถาบันพระปกเกล้าคงไม่ให้รางวัล ต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ร่วมด้วยช่วยกันจน อบจ.สตูลมีวันนี้ และขอให้ร่วมด้วยช่วยกันเช่นนี้ตลอดไป เราจะร่วมกันพัฒนาสตูลให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
 
สำหรับโครงการที่ส่งเข้าประกวด และได้รับรางวัลในปีนี้ เป็นการส่งเสริม 3 เครือข่าย ประกอบด้วยเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.สตูล CBT-SATUN (Satun Community-Based Tourism)  เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน และเครือข่าย LA21 จ.สตูล...สู่ท้องถิ่นน่าอยู่อย่างยั่งยืน
 
ทั้งนี้ ทางอบจ.สตูล ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้ 3 เครือข่ายดังกล่าวนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ตรงต่อความต้องการ และสอดคล้องต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชุมชน 
 




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น