xs
xsm
sm
md
lg

ศร.ชล. เขต 3 ได้ข้อสรุปแก้ปัญหาเรือประมงวางซั้งในทะเล ห่าง 1 ไมล์ พร้อมกำหนดจำนวนชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศร.ชล. เขต 3) หารือร่วมผู้ประกอบการประมงเรืออวนล้อม และเรืออวนลากฝั่งอันดามัน หาทางแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบทิ้งซั้งในทะเล หลังมีการร้องเรียนไปยัง ศปมผ.ได้ข้อตกลงร่วมกันต้องทิ้งห่างกัน 1 ไมล์ทะเล เพื่อให้เรืออวนลากเข้าทำประมงในพื้นที่ได้ และกำหนดจำนวนที่ชัดเจนต่อไป
พลเรือโท สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3
พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศร.ชล. เขต 3) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศร.ชล. เขต 3) ครั้งที่ 1/2559 เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการทำประมงในลักษณะของการทิ้งซั้งลงในทะเล โดยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่ฝั่งอันดามัน เช่น จังหวัด ประมง เจ้าท่า รวมทั้งผู้ประกอบการประมงในพื้นที่เข้าร่วม ณ โรงแรม รอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จ.ภูเก็ต วันนี้ (12 พ.ย.) ว่า

การประชุมศูนย์ประสานในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศร.ชล. เขต 3 ในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทำประมงในลักษณะของการทิ้งซั้ง ระหว่างผู้ประกอบการเรือประมงอวนลากคู่ กับเรือประมงอวนล้อมในฝั่งทะเลอันดามันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการเรือประมงอวนลากคู่ในจังหวัดภูเก็ต ได้ร้องเรียนไปยังศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ว่า ไม่สามารถเข้าไปทำประมงในบริเวณพื้นที่ทางตอนเหนือของทะเลอันดามัน โดยเฉพาะตั้งแต่ทางตอนใต้ของหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา จนถึงเกาะลิเป๊ะ จ.สตูล เนื่องจากเรือประมงอวนล้อมได้นำซั้ง (อุปกรณ์การทำประมงที่ชาวประมงน้ำไปทิ้งใต้ท้องทะเลเพื่อให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัย ก่อนที่จะนำอวนเข้าล้อมจับ) มาทิ้งในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เรืออวนลากไม่สามารถเข้าพื้นที่ และบางครั้งลากติดซั้งที่นำไปไว้จนได้รับความเสียหาย ทาง ศปมผ.พิจารณาแล้วเห็นว่า การทำประมงในลักษณะดังกล่าวไม่มีกฎหมายรองรับ จึงได้มอบหมายให้ทาง ศร.ชล. เขต 3 หารือร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

จากการหารือร่วมกันในวันนี้ ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และผู้ประกอบการประมงทั้งเรืออวนล้อม และเรืออวนลากเข้าร่วมนั้น ได้มีการกำหนดให้เรือประมงวางซั้งในเขตพื้นที่ตั้งแต่เกาะรอก จนถึงเกาะห้า จ.กระบี่ ห่างกันซั้งละ 1 ไมล์ทะเล หรือ 1,000 หลา ถ้าพื้นที่บนบกก็จะอยู่ที่ 2 กิโลเมตร รวมทั้งกำหนดกรอบพื้นที่ที่ชัดเจนอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เรือประมงอวนลากสามารถเข้าไปทำประมงในพื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย รวมทั้งหลังจากนี้จะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าเรือแต่ละลำสามารถทิ้งซั้งได้กี่ลูก เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย และเป็นการทำประมงแบบยั่งยืนตลอดไป เพราะขณะนี้ซั้งที่เรือประมงทิ้งลงไปในทะเลนั้นมีจำนวนค่อนข้างมาก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำประมงของเรือประเภทอื่นๆ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น