xs
xsm
sm
md
lg

“หนึ่งเดียวในโลก” ชาวตรังร่วมลากพระทางน้ำสืบสานประเพณีประจำถิ่นต่อเนื่องนับร้อยปี (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ชาวหาดสำราญ จ.ตรังร่วมสืบสานประเพณีลากพระทางน้ำต่อเนื่องนับร้อยปีจวบจนปัจจุบัน จนกลายเป็นประเพณีประจำถิ่น “หนึ่งเดียวในโลก”
   


 
วันนี้ (4 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ท่าเทียบเรือปากปรน ม.1 ต.หาดสำราญ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง นายวิโรจน์ อินทร์สว่าง นายอำเภอหาดสำราญ น.ส.กรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง นายจรินทร์ ณ พัทลุง นายก อบต.หาดสำราญ ร่วมกับชาวบ้าน อ.หาดสำราญ กว่า 200 คน ร่วมประเพณีลากพระทางน้ำข้ามทะเล โดยมีเรือพาย จำนวนประมาณ 20 ลำ ร่วมลากเรือพระน้ำเพื่อล่องไปในทะเลตรัง จากท่าเทียบเรือบ้านปากปรน เดินทางสู่แหลมจุโหย ต.เกาะลิบง จ.ตรัง

กิจกรรมภายในงานร่วมสมโภชเรือพระ ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ลงเรือจำลอง การลากพระน้ำทางเรือสู่แหลมจุโหย (เกาะลิบง) เป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร กระทั่งเมื่อถึงแหลมจุโหย จะจัดกิจกรรมกลางแจ้งกันที่บริเวณชายหาด จากนั้นจะตั้งขบวนเรือ และร่วมกันลากกลับที่ท่าเรือบ้านปากปรน โดยถือปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมานับหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน

จนกระทั่งได้กลายเป็นประเพณีประจำถิ่นที่ยังหลงเหลือเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นให้ปรากฏคงอยู่สืบไป สมโภชเฉลิมฉลองตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ และส่งเสริมการทำบุญของพุทธศาสนิกชน พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของ ต.หาดสำราญ ให้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย

ด้วยวิถีชีวิตชาวบ้านปากปรน มีความผูกพันกับสายน้ำ และท้องทะเลอันดามัน เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการประมง ดังนั้น ในช่วงออกพรรษาจึงเป็นจุดกำเนิดงานประเพณีชักพระทางน้ำของชาวบ้านปากปรนขึ้น โดยทุกวันออกพรรษาทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันจัดข้าวปลาอาหารลงเรือ เพื่อร่วมขบวนลากพระไปตามลำคลองในหมู่บ้าน และข้ามทะเลไปยังเกาะลิบง แหล่งอาศัยของพะยูน ระหว่างนั้นได้มีการประกอบพิธีลอยพระเคราะห์ เพื่อเป็นการขอขมาต่อพระแม่คงคา และขอบคุณพระแม่คงคาที่ให้อาชีพจุนเจือครอบครัว ประเพณีลากพระทางทะเลนับเป็นประเพณีโบราณที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวใน จ.ตรัง

ทั้งนี้ เป็นประเพณีที่เก่าแก่ และยาวนาน เนื่องจากชาวบ้านปากปรน และพื้นที่ใกล้เคียงเกือบทั้งหมดมีอาชีพทำการประมง วิถีชีวิตจึงเกี่ยวข้องต่อแม่น้ำลำคลอง และการใช้เรือ ในสมัยก่อนการเดินทางโดยทางบกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประกอบกับช่วงเวลาการทำประมงของชาวบ้านส่วนใหญ่มักจะทำกันในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง หรือน้ำใหญ่ ซึ่งอยู่ในระหว่างขึ้น 13 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ และแรม 13 ค่ำ ถึงขึ้น 5 ค่ำ รวมทั้งไม่มีวัดอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อบ้านอื่นมีการลากพระกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จึงมักไม่มีโอกาสได้เข้าร่วม

ดังนั้น ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการประกอบอาชีพ ชาวบ้านจึงร่วมกันนำเอาเรือที่ใช้กันทำประมงมาประกอบตกแต่งเป็นเรือพระ แล้วใช้เรือลำอื่นๆ ผูกลากไปในคลองปากปรน และได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันเรื่อยมานับร้อยปีจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งเป็นประเพณีประจำถิ่นเพียงแห่งเดียวในโลก


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น