xs
xsm
sm
md
lg

คนเลี้ยงกุ้งสุดทนราคาตกต่ำจี้รัฐงดนำเข้าปีหน้าลดการผลิต 30%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุราษฎร์ธานี - ผู้เลี้ยงกุ้งทั่ว ปท.สุดทน ราคากุ้งตกต่ำเกินจริง เรียกร้องรัฐประกาศงดนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ พร้อมหาแนวทางรักษาเสถียรภาพราคา พร้อมประกาศลดกำลังผลิตลง 30%

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่โรงแรมวังใต้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ จำนวนกว่า 100 คน นำโดย นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย ได้มาร่วมประชุมหารือเร่งด่วนเพื่อเตรียมความพร้อมหาแนวทางในการรับมือต่อวิกฤตในอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ โดยเฉพาะต่อการแก้ไขปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ให้ราคากุ้งมีเสถียรภาพ และเป็นธรรม รวมถึงการป้องกันแก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมสมาพันธ์เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกำลังประสบปัญหาภาวะราคากุ้งตกต่ำต่อเนื่องซ้ำซาก ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนอย่างมากต่อภาคการผลิตกุ้งของประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย สมาคมสมาพันธ์เกษตกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย ในฐานะตัวแทนของพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกที่เป็นสมาคม ชมรม สหกรณ์ กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆ จึงได้มาประชุมหารือกันเพื่อรวบรวมประเด็นปัญหา แนวทางทางแก้ไข ป้องกัน และอื่นๆ หลังจากที่แต่ละแห่งได้ไปประชุมสรุปประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขกันมาแล้ว ก็มาสรุปในประเด็นสำคัญเร่งด่วนกันในวันนี้

ซึ่งขอสรุปของทางสมาพันธ์ฯ ที่ยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.เกษตรกรผู้เลี้ยงพร้อมใจลดกำลังการผลิตกุ้งขาวแวนาไม ลงร้อยละ 30 ตั้งแต่วันนี้ จนกว่าภาวะราคาจะดีขึ้น 2.ให้รัฐบาลยกเลิกประกาศการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศทุกรายการ โดยเฉพาะห้ามนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซีย และบราซิลโดยเด็ดขาด เนื่องจากเสี่ยงต่อโรค IMNV เข้ามา 3.ขอให้รัฐบาลหาแนวทางรักษาเสถียรภาพราคากุ้งขาวแวนนาไมในประเทศ 4.ผลักดันจัดตั้งคณะกรรมการกุ้งแห่งชาติ ขณะนี้ราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 100 ตัว/กก. ราคาต่ำกว่า 114 บาท/กก. ราคากุ้งตกต่ำเกินจริง ซึ่งสวนทางต่อภาวะความต้องการของตลาดโลก ที่สำคัญเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเองก็เพิ่งผ่านจากวิกฤตโรคระบาดกุ้งตายด่วน หรืออีเอ็มเอส ก็ต้องมาเผชิญต่อภาวะราคากุ้งต่ำซ้ำซากอีก

นายบรรจง กล่าวต่อไปว่า สมาพันธ์ฯ ขอเรียกร้องให้ภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนนี้ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม และบูรณาการกันในการทำงาน ซึ่งจะนำไปสู่ความอยู่รอดของพี่น้องเกษตรกร และความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศโดยรวม ก่อนที่พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะอยู่กันไม่ได้ เลิกเลี้ยงในที่สุด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น