xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยฯ ตรังเผยขยายพันธุ์ปลาซิวข้างขวานมากสุดในไทย เตรียมปล่อยคืนธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ตรัง - ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด วิจัย และขยายพันธุ์ปลาซิวข้างขวานเล็ก ปลาประจำถิ่นซึ่งพบมากที่สุดของประเทศไทยใน 2 อำเภอของจังหวัดตรัง เพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

วันนี้ (15 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนันต์ สี่หิรัญวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดตรัง กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ โดยการนำของ นางอำไพพรรณ ไกรสุรสีห์ นักวิชาการประมงชำนาญการ ได้ทำการวิจัย และขยายพันธุ์ปลาซิวข้างขวานเล็ก (Harlequin Rasbora) ซึ่งพบแพร่กระจายตามแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในป่าพรุของภาคใต้ ที่มีพรรณไม้น้ำกระจายอยู่ เพราะชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ทั้งนี้ ในจังหวัดตรัง จะพบปลาชนิดนี้มากที่สุดของประเทศไทย ในเขตอำเภอย่านตาขาว และอำเภอปะเหลียน
 

 
สำหรับปลาซิวข้างขวานเล็ก ถือเป็นปลาที่มีลำตัวแบน สีน้ำตาลอมเขียว แต่บริเวณตรงกลางลำตัวมีสีน้ำตาลอมแดง ลักษณะเด่นคือ มีแถบสามเหลี่ยมสีดำเล็กๆ คล้ายรูปขวาน บริเวณจากตอนกลางลำตัวไปทางด้านหาง เพศผู้จะมีสีสดใส หรือสีเข้มกว่า และลำตัวเรียวกว่าเพศเมีย ซึ่งโดยมากท้องจะอูมเป่ง และลำตัวมีขนาดใหญ่มากกว่าเพศผู้ หากินตามพื้นท้องน้ำที่เป็นโคลนปนทราย ขนาดโดยทั่วไปยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะมีความยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร

ทั้งนี้ เนื่องจากปลาซิวข้างขวานเล็ก จัดเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่ง จึงเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาตู้ เพราะมีลักษณะตัวเป็นประกาย มีความอดทน เลี้ยงง่าย กินได้ทั้งพืช และสัตว์เป็นอาหาร โดยชาวบ้านจะจับปลาชนิดนี้ตามแม่น้ำลำคลอง ส่งให้แก่พ่อค้าคนกลางเพื่อนำไปขายยังตลาดสวนจตุจักร กรุงเทพฯ หรือส่งยังตลาดต่างประเทศ เนื่องจากมีราคาดี และมีมูลค่าการส่งออกสูง โดยปลาขนาด 1-1.5 เซนติเมตร จะมีราคาจำหน่ายปลีกตัวละ 1-2 บาท แต่หากส่งไปยังต่างประเทศแล้วจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว
 

 
อย่างไรก็ตาม การนำปลาซิวข้างขวานเล็กส่งไปขายนั้น จะเป็นลักษณะของการจับตามแม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ ทำให้มีปริมาณที่ไม่แน่นอน และอาจลดลงได้ในอนาคต ดังนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดตรัง จึงได้การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์นำมาเลี้ยงไว้โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ภายในบ่อซีเมนต์ ขนาด 1x2x1 ตารางเมตร ระดับน้ำลึก 50 เซนติเมตร หลังจากนั้น เมื่อแม่พันธุ์วางไข่ออกมาก็จะแยกไปอนุบาลในตู้กระจก อัตราปล่อย 500 ตัวต่อตู้ หรืออนุบาลในบ่อซีเมนต์ขนาด 1x2x1 ตารางเมตร อัตราปล่อย 1,200 ตัวต่อตารางเมตร

ขณะที่การเลี้ยงปลาซิวข้างขวานเล็ก ก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ใช้ระบบน้ำหมุนเวียน รวมทั้งใส่หินเกล็ด พรรณไม้น้ำ และรากไม้ เพื่อให้เหมือนสภาพธรรมชาติที่ปลาอาศัยอยู่ โดยให้ไรแดง หรืออาหารเม็ดสำเร็จรูปวันละ 2 ครั้ง จนได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ได้ปลาที่มีคุณภาพ มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และไม่กระทบต่อธรรมชาติ โดยขณะนี้ทางศูนย์ฯ กำลังอยู่ระหว่างการนำชาวบ้านในพื้นที่มาเข้าทำการอบรมเพื่อส่งเสริมให้มีความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น