xs
xsm
sm
md
lg

“กอ.รมน.” ยันใช้ถังแก๊สคอมโพสิตเพิ่มความปลอดภัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จับมือ ปตท. ยันมั่นใจการเปลี่ยนใช้ถังแก๊สคอนโพสิตใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้แน่ เผยเตรียมเปิดปั๊มแก๊ส NGV แห่งแรกต้นปี 2559

วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 ได้ให้การต้อนรับ นายชวลิต พันธ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะ เพื่อเข้าร่วมประชุมความคืบหน้าในการเปลี่ยนถังแก๊สคอมโพสิต ทดแทนถังแก๊สเหล็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งความคืบหน้าในการอนุมัติให้ภาคเอกชนผู้มีความพร้อมเปิดสถานีบริการเชื้อเพลิงแก๊สธรรมชาติ (NGV)

พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาค 4 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในการประชุมครั้งนี้ เนื่องด้วยทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกันกับทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในเรื่องการเปลี่ยนถังบรรจุแก๊สจากถังเหล็กเป็นถังคอมโพสิต ซึ่งมีการปรึกษาหารือกันมาหลายครั้ง และครั้งนี้มีผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

เนื่องจากอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนจากถังเหล็กเป็นถังคอมโพสิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นจำนวนมาก เป็นกิจกรรมที่ส่งผลทางด้านความมั่นคง การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทางบริษัท และห้างร้านต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับทางราชการให้เกิดความสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 
“อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นข่าวดีสำหรับพี่น้องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ทาง ปตท. ได้อนุมัติให้จัดตั้งปั๊มแก๊ส NGV ที่จะดำเนินการแห่งแรกที่บริเวณแยกดอนยาง ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งจะเปิดให้บริการต้นปี 2559 ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนที่เรียกร้องกันมานานก็จะสามารถใช้แก๊ส NGV ได้ และเป็นการเอื้อประโยชน์ทางด้านธุรกิจที่จะทำให้สามารถขยายธุรกิจได้ในอนาคต” แม่ทัพภาค 4 กล่าว

ด้าน นายชวลิต พันธ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในเรื่องของถังแก๊สคอมโพสิต ทาง ปตท. ก็ไม่ได้ปิดกั้นให้ภาคเอกชนอื่นๆ สามารถเข้ามาร่วมโครงการได้ ซึ่งทราบว่าทางส่วนราชการได้ดำเนินการติดต่อกันแล้ว อยู่ในระหว่างการรอคำตอบจากภาคเอกชนต่างๆ ที่จะเข้ามาร่วมโครงการ

ส่วนขนาดถังแก๊สคอมโพสิตในอนาคตก็จะมีหลายขนาด ขึ้นอยู่ตามความเหมาะสม และความต้องการของผู้ใช้ เนื่องจากมีผู้ใช้สะท้อนความคิดเห็นมาว่า ขนาด 11 กิโลกรัม อาจจะมีปริมาณแก๊สน้อยไป แต่เมื่อนำน้ำหนักแก๊สกับถังมารวมกันก็จะมีน้ำหนักประมาณ 16 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ผู้หญิงสามารถยกได้ เคลื่อนย้ายได้ มีน้ำหนักที่เบา

“สำหรับถังคอมโพสิตเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยการทำถังด้วยไฟเบอร์กลาส และใช้โพลีเมอร์ เป็นเปลือกหุ้มภายนอกเพื่อความสวยงาม ถังที่ผลิตขึ้นมาได้การรับรองจาก มอก. ผ่านการทดสอบทุกขั้นตอน ทดสอบแรงดัน การดรอปเทสต์ หรือการทดสอบนำถังตกจากที่สูง ซึ่งเทียบเท่ามาตรฐานสากล และผ่านการรับรอง มอก. แล้วว่ามีความปลอดภัยในการใช้ โดยถังคอมโพสิตนี้ในอนาคตก็จะนำไปใช้ในครัวเรือนทั่วประเทศ” นายชวลิต กล่าว




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น