คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
การเปิดเวที “พูดคุยสันติสุข” ระหว่างตัวแทนรัฐไทยนำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก กับตัวแทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีขบวนการบีอาร์เอ็นฯ และอื่นๆ รวม 6 กลุ่ม ที่มี อาวัง ยาบะ สถาปนาตนเองเป็นตัวแทนของขบวนการ “มารา ปัตตานี” และมี สุกรี ฮารี เป็นตัวแทนในการเจรจา ซึ่งเพิ่งจะเสร็จสิ้นเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมานั้น
ถือเป็น “ความหวัง” ของกระบวนการดับไฟใต้ ซึ่งคนในพื้นที่จำนวนหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผลที่ดีกว่าเวทีเจรจาเมื่อครั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะครั้งนี้ผู้ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสานต่อการพูดคุยคือ รัฐบาลใต้ปีกโอบของกองทัพที่มีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดนโยบาย และตัดสินใจ
ผิดกับรัฐบาลพลเรือนที่ไม่ว่าจะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย เพราะหากจะแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือการ “เงี่ยหู” ฟังเสียงของกองทัพว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการเจรจา เพราะหากกองทัพไม่เห็นด้วย ก็เป็นการยากที่จะขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จ
ดังนั้น หลายภาคส่วนจึงมีความหวัง และคาดหวังว่า เวทีการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับตัวแทนของขบวนการทั้ง 6 กลุ่มจะเป็นการเริ่มต้นของการกรุยทางไปสู่ความสำเร็จ
โดยเฉพาะภาพ และข่าวของการพูดคุยที่มีลักษณะของการ “รอมชอม” ที่ทั้ง 2 ฝ่ายยื่นข้อเสนอฝ่ายละ 3 ข้อ และมีการเชิญ “สื่อมวลชน” ไปรับฟังการแถลงข่าวที่จัดโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนทั้ง 6 กลุ่ม
แม้ว่าจะมีสียงกระซิบจากบางฝ่ายให้จับตามองให้ดีว่า เวทีการพูดคุยครั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่า จะมีการ “จัดฉาก” จาก 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผู้สันทัดกรณีต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนเห็นรายชื่อ และโฉมหน้าตัวแทนฝ่ายเห็นต่างรัฐไทยแล้วกลับไม่อยากพูด ไม่อยากวิจารณ์ เอาแต่หัวเราะหึหึเพียงอย่างเดียว
แต่ในทันทีที่ “อับดุลการิม กาหลิบ” ซึ่งเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นในสายของ “เปอร์มูดอ” หรือกลุ่มเยาวชน ใช้วิธีเดิมๆ ตั้งแต่สมัยที่มีการพูดคุยกับคณะของ พล.ท.ภราดร พัฒถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เป็นตัวแทนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์คือ การใช้ “ยูทิวบ์” ในการสื่อสารต่อสาธารณะ ซึ่งเนื้อหาหลักคือ การปฏิเสธไม่ยอมรับการพูดคุยระหว่างตัวแทน 6 กลุ่มในนามมารา ปาตานี กับตัวแทนของรัฐบาล
โดยเนื้อหาของการสื่อผ่านทางยูทิวบ์ของ อับดุลการิม กาหลิบ แกนนำบีอาร์เอ็นยังมีลักษณะของการก้าวร้าว ประณามรัฐไทยเป็น “นักล่าอาณานิคม” รวมทั้งกล่าวว่ารัฐไทยไม่มีความจริงใจต่อการสร้างสันติภาพ
และที่สำคัญ บีอาร์เอ็นยังยืนยันในเงื่อนไข และในข้อเสนอเดิมๆ ที่เคยยื่นกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั่นคือ 5 ข้อเสนอที่ต้องการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวมลายูปาตานี ซึ่งสอดคล้องต่อกฎบัตรของสหประชาชาติ โดยมีการเน้นย้ำว่าชาวมลายูปาตานีจะต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับอิสรภาพ
แน่นอนว่า ผู้เขียนเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่บอกว่า อย่าให้ความสนใจต่อการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น และต้องดูกันให้นานๆ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายไหน
ผู้เขียนเองก็คาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า การพูดคุยครั้งนี้ไม่ง่าย เนื่องจากธรรมชาติของขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น ในกลุ่มแกนนำไม่เคยมีอะไรที่เป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะขบวนการบีอาร์เอ็นที่ยังมีเนื้อหนังที่สมบูรณ์กว่าอีก 3 ขบวนการที่มีเพียงโครงสร้างเท่านั้น
แต่การออกมาสื่อผ่านช่องทางยูทิวบ์ของแกนนำอย่าง อับดุลการิม กาหลิบ ก็ไม่ถือว่าเป็นการไร้สาระที่ไม่ควรต้องรับฟังเสียทีเดียว แต่โดยข้อเท็จจริงกลับต้องมีการสำเหนียก และตรวจสอบถึงน้ำหนักของทั้ง 2 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น 6 กลุ่มที่เป็นคู่เจรจา หรือกลุ่มที่ถือโอกาสป่าวประกาศจุดยืนผ่านทางโซเชียลมีเดีย
สิ่งที่สำคัญที่สุดของฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ว่าจะเป็นของ 6 กลุ่ม หรือเป็นกลุ่มของ อับดุลการิม กาหลิบ โดยทั้ง 2 กลุ่มต่างก็ยังไม่มีความชอบธรรมในการอ้างว่าเป็นตัวแทนของชนชาวมลายูปาตานี หรือในการที่จะตัดสินใจแทนคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะใครเล่ามีอำนาจเป็นผู้ให้ฉันทานุมัติในข้อเสนอที่เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย
เพราะความต้องการของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่อาจมีเพียงให้สถานการณ์ชายแดนใต้มีความสงบ ไม่มีการก่อการร้ายเกิดขึ้น และต้องการได้รับการพัฒนาจากรัฐ เพื่อให้มีความมั่นคงในอาชีพ และอื่นๆ
ในเรื่อง “อิสรภาพ” หรือ “เอกราช” หรือ “หนึ่งประชาชาติ หนึ่งภาษา หนึ่งรัฐชาติ” นั้นอาจจะเป็นเรื่องของแกนนำของขบวนการ แต่ไม่ใช่เป็นความต้องการของคนในพื้นที่ ซึ่งวันนี้สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่เขาต้องการอาจจะไม่ใช่สิ่งที่แกนนำบีอาร์เอ็น รวมถึงขบวนการทั้ง 6 กลุ่มต้องการก็ได้
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรบทสรุปหนึ่งที่ได้ในวันนี้คือ ความไม่เป็น “เอกภาพ” ของขบวนการบีอาร์เอ็นที่เกิดขึ้นคือ “ตัวถ่วง” ที่ทำให้กลายเป็นปัญหาของการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับตัวแทนทั้ง 6 กลุ่ม เพราะในเมื่อยังมีแกนนำบีอาร์เอ็นอีกซีกหนึ่งไม่เห็นด้วย และปฏิเสธการเข้าร่วม การดำเนินการพูดคุยย่อมประสบผลสำเร็จยากยิ่ง
โดยเฉพาะในการที่ปฏิเสธการพูดคุยกับรัฐไทยของบีอาร์เอ็นกลุ่มของอับดุลการิม กาหลิบ นั้น เมื่อมีการตรวจสอบในเชิงลึกจะพบว่า กลุ่มนี้แหละคือ “ตัวจริง” ของขบวนการบีอาร์เอ็น
หากเป็นเช่นนี้จึงเชื่อว่า การก่อการร้ายในชายแดนใต้ยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องระวังและป้องกันอย่างเข้มข้นต่อไป เพราะอาจจะมีการประลองกำลังระหว่างแกนนำของขบวนการทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อที่จะให้คนในพื้นที่ รวมทั้งรัฐไทยเห็นว่า ใครคือ “ตัวจริง” และใครคือ “ตัวปลอม” ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็ยังคงเป็นประชาชนในพื้นที่นั่นเอง
เชื่อว่าการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขตามความเชื่อที่ว่า การยุติสงครามการก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดนจะจบได้ด้วยการเจรจาเท่านั้น แต่ในระหว่างของการพูดคุย หรือเจรจาจะสามารถ “หลอมรวม” ทุกกลุ่มไปในทิศทางเดียวกันได้นั้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่มีแผน หรือแนวทางในการ “รับมือ” ต่อ “ความรุนแรง” ที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งของกลุ่มคนที่มีความคิดที่เห็นต่าง เพื่อสร้างความสำคัญให้แก่กลุ่มของตนเอง เพื่ออำนาจของการ “ต่อรอง” กับรัฐไทย
ขอบคุณ “อับดุลการิม กาหลิบ” ที่ทำให้หลายฝ่ายเห็นถึง “ฉากหลัง” ของเวทีการพูดคุยสันติสุขระหว่างขบวนการ 6 กลุ่มกับตัวแทนของรัฐไทยว่า ไม่ได้ “สวยงาม” อย่างที่เห็น และอาจจะมีเบื้องหลังการถ่ายทำที่ “ซับซ้อน” และมี “เงื่อนไข” ที่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่ได้รับรู้อีกมากมาย
-------------------------------------
(ข้อความต่อไปนี้เป็น “คำแปล” จากคลิปวิดีโอที่ “อับดุลการิม กาหลิบ” ออกมาแถลงไว้)
Bismillah hiraahman nirrahim
ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ
Assalamualaikum Wr.Wb.
ขอความสันติจงมีแด่ท่าน
PERISYTIHARAN JABATAN PENERANGAN B.R.N
ประกาศจากฝ่ายประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสาร บีอาร์เอ็น
Alhamdulillahiwahdah. Kepada umatku Bangsaku Melayu PATANI yang tercinta, jadilah kita umat yang satu bangsa yang satu, bersatulah kita pantang mengalah.
อัลฮัมดูลิลลาฮ์วะฮ์ดะฮ์ (บรรดาการสรรเสริญเป็นของพระองค์) ถึงชนชาวมลายูปาตานีที่เคารพรัก จงเป็นประชาชาติที่เป็นหนึ่ง และประชาชาติที่เป็นหนึ่ง จงมีความสามัคคีกัน และอย่าได้จำนนต่อความพ่ายแพ้
Kondisi Realiti masyarakat Melayu Patani selama lebih dari 2 abad sejak tahun 1786 telah menyatakan kepada publik bahwa terdapat impak fatal di setiap sudut baik di bidang politik ekonomi sosial maupun budaya. Akibat ini dari kolonialisasi oleh Siam secara sistematis melalui policy “pecah dan perintah”(divide and rule) serta menyatukan jadi sebagian dari negara Siam tanpa hak yang benar.
สถานการณ์ที่กำลังเป็นอยู่ของสังคมมลายูปาตานีตลอดระยะเวลากว่าสองศตวรรษ นับตั้งแต่ปี 1786 ที่ได้ประจักษ์ต่อสาธารณชนว่า มันได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม แม้กระทั่งด้านวัฒนธรรม ผลกระทบดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากนักล่าอาณานิคมสยามที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบผ่านนโยบาย “แบ่งแยกแล้วปกครอง” และได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศด้วยวิถีที่ไร้ซึ่งความชอบธรรม
Sejak dari hari pertama dijajah oleh kolonialis Siam hingga sekarang ini, Bangsa Melayu Patani tidak pernah berhenti menentang dan melawan demi pembebasan sesuai dengan konteks dan kondisi peredaran zaman. Demikian itu, kondisi perlawanan Bangsa Melayu Patani sekarang adalah perlawanan Revolusi raktyat, oleh rakyat, untuk rakyat yang sedang berdepan dengan imprialisme, kolonialisme yang monopoli kapitalisme ortodoks.
นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ถูกยึดครองโดยนักล่าอาณานิคมสยามจนถึงบัดนี้ ชาวมลายูปาตานีมิเคยหยุดการต่อต้านและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ ที่สอดคล้องต่อบริบท และความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย ฉะนั้นการต่อสู้ของชนชาวมลายูปาตานี ณ วันนี้ คือการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ที่กำลังเผชิญต่อนักล่าอาณานิคมที่มีแนวคิดทุนนิยมแบบผูกขาด
Dalam kondisi tindas-menindas di bawah kolonialis Siam di atas, menyebabkan lahirnya alternatif perlawanan bangsa dalam bentuk revolusi rakyat untuk pembebasan yang di pelopori oleh Barisan Revolusi Nasional (BRN) yang mempunyai tujuan tertinggi adalah kemerdekaan demi untuk mempertahankan hak Bangsa Melayu Patani, di atas kedaulatan teritorial yang sesuai dengan piagam Pertubuhan Bangsa Bangsa Bersatu (PBB) 1514 (XV).
ในสถานการณ์ที่มีการกดขี่ข่มเหง ภายใต้การยึดครองของนักล่าอาณานิคมสยามดังที่กล่าวมาข้างต้น ที่ได้นำไปสู่การก่อกำเนิดทางเลือกในการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยของประชาชน ในรูปแบบการปฏิวัติประชาชน ที่นำโดยขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือ การได้รับอิสรภาพ เพื่อปกป้องสิทธิ และผลประโยชน์ของชาวมลายูปาตานีที่อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยแห่งดินแดน ที่สอดคล้องต่อกฎบัตรของสหประชาชาติ (UN) 1514 (XV)
Demikian juga kondisi politik imprialis dan kolonialis Siam sekarang sedang tercabar dengan permasalahan dalam istana, mengenai perancangan perebutan untuk mendapat kuasa diraja ke 10.Sedangkan untuk mencipta pemerintahan demokrasi yang menghormati hasrat politik rakyat merupakan jalan keluar penyelesaian konfik belum juga dapat dilaksanakan. Malah sebaliknya memperalatkan rakyat dalam perebutan kekuasaan.
ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ทางการเมืองทางฝั่งของผู้กดขี่ และนักล่าอาณานิคมแห่งสยามเอง ปัจจุบันกำลังเผชิญต่อปัญหาที่มีความท้าทายในการเมืองภายในที่กำลังถูกรุมเร้า เกี่ยวเนื่องกับแผนการเพื่อแก่งแย่งกันเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของชนชั้นสูง ในขณะที่แนวทางที่จะสถาปนาการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความเคารพต่อแนวคิดของพลเมือง ที่เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น ยังมิได้รับการดำเนินการแต่อย่างใด หนำซ้ำตรงกันข้ามกลับใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการปูทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ
Negara-negara antara bangsa sudah mengenal pasti bahwa penjajah siam tidak menghormati marwah manusia dan hak-hak untuk menentu nasib sendiri setiap bangsa di bawah jajahannya, khususnya BANGSA MELAYU PATANI. Apatah lagi dengan perundingan damai yang tidak mungkin dapat di percayai bahwa penjajah Siam tidak akan menipu terhadap Patani lagi seperti mana yang telah lepas, karena penjajah Siam terkenal dengan penipulator dan terorisme. Sejak zaman berzaman penjajah Siam menggunakan teori asal sampai tujuan segala cara halal. Berdasarkan fakta yang ada, kami Bangsa Melayu Patani takdapat menaruh kepercayaan kepada penjajah Siam yang tak bermoral lagi pengkhianat yang sentiasa sungsang dengan bangsa lain yang ada di dunia.
นานาประเทศต่างประจักษ์ชัดแล้วว่า นักล่าอาณานิคมสยามนั้น ไม่ได้ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองให้แก่ทุกชนชาติที่อยู่ภายใต้การปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนชาวมลายูปาตานี นับประสาอะไรกับการเจรจาสันติภาพที่มิอาจเชื่อได้ว่านักล่าอาณานิคมสยามนั้นจะไม่มีการหลอกลวงชาวปาตานีเหมือนอย่างที่แล้วมา ในเมื่อนักล่าอาณานิคมสยามเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสิบแปดมงกุฎ และเป็นอาชญากร ยุคแล้วยุคเล่าที่นักล่าอาณานิคมสยามยังใช้ทฤษฎีเดิม ที่บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างชอบธรรม(ตามนโยบาย) ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าว เราในฐานะชาวมลายูปาตานี มิอาจที่จะให้ความไว้วางใจต่อนักล่าอาณานิคมสยามที่ไร้ศีลธรรมนี้ได้ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่คอยทำลาย ที่มีความย้อนแย้งต่อทุกชนชาติที่มีอยู่ในโลก
Selagi ideology politik penjajah Siam tidak berubah dan mengakui hak-hak untuk menentu nasib sendiri bagi Bangsa Melayu Patani sesuai dengan piagam Pertubuhan Bangsa Bangsa Bersatu (PBB) 1514 (XV). SELAMA ITU REVOLUSI RAKYAT MELAYU PATANI TETAP DITERUSKAN HINGGA NASIB BANGSA MELAYU PATANI MENCAPAI KEBEBASAN.
ตราบใดที่แนวคิดทางการเมืองของนักล่าอาณานิคมสยามยังไม่เปลี่ยนแปลง และไม่ยอมรับในสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวมลายูปาตานีที่สอดคล้องต่อกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ (UN) 1514 (XV) ได้ ตราบนั้นการต่อสู้ของชาวมลายูปาตานีจักยังคงดำเนินต่อไป จนกว่าชะตากรรมของชนชาวมลายูปาตานีจะได้รับอิสรภาพ
Diakhir ini kami nyatakan bahwa perisytiharan ini sebagai pengtahuan umat kita dan bangsa kita bahwa pendirian dan sikap kami adalah satu, satu bangsa, satu bahasa dan satu negara.
สุดท้ายนี้เราขอยืนยันว่า แถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อเป็นที่รับรู้ของประชาชานของเรา และประชาชาติของเราอย่างทั่วกันว่า จุดยืนของเรา และแนวคิดของเราคือหนึ่งเดียว หนึ่งประชาชาติ หนึ่งภาษา หนึ่งรัฐชาติ
Pantang kiri, Pantang kanan
ไม่เลี้ยวซ้าย ไม่เลี้ยวขวา
MERDEKA ATAU SYAHID
(การได้รับอิสรภาพ/เอกราช หรือการได้รับชาฮีด; มรณสักขี).
Wassalamualaikum Wr.Wb.
ขอความสันติจงมีแด่ท่าน
JABATAN PENERANGAN B.R.N
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสาร บีอาร์เอ็น
MERDEKA! MERDEKA!! MERDEKA!!!
อิสรภาพ/เอกราช! อิสรภาพ/เอกราช!! อิสรภาพ/เอกราช!!!
หมายเหตุ : มีการแก้ไขเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2558 เวลา 16.00 น. เพื่อความถูกต้อง และเหมาะสม