xs
xsm
sm
md
lg

บินสำรวจทะเลกะรน ภูเก็ต ไร้เงาฉลาม ดำน้ำค้นหาพบแต่ปักเป้า นักวิชาการฯ เห็นแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต นำทีมนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญฉลามบินสำรวจบริเวณชายฝั่งหาดกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ตรวจสอบค้นหาสัตว์ทะเลไม่ทราบชนิดที่กัดนักท่องเที่ยวออสเตรเลีย ผลการสำรวจไม่พบฉลาม และสิ่งผิดปกติ ขณะที่ดำน้ำสำรวจพบแต่ปลาปักเป้า และปลาหน้าวัว ไร้วี่แววฉลาม ด้านนักวิชาการประมงฯ เห็นแย้งผู้เชี่ยวชาญฉลามว่าน่าจะเป็นปลาปักเป้ามากกว่า

เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (3 ก.ย.) ที่หมวดบินเฉพาะกิจ ทัพเรือภาคที่ 3 สนามบินภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย น.อ.พงศ์จักร อุไรมาลย์ ผู้บังคับหมวดบินเฉพาะกิจ ทัพเรือภาคที่ 3 นางบุษยา ใจเปี่ยม ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต นายทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจและวิเคราะห์สภาวะทรัพยากรและประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต) นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน และนายเดวิค มาติน ผู้เชี่ยวชาญด้านฉลาม และช่างภาพใต้น้ำชาวฝรั่งเศส แถลงผลการบินสำรวจบริเวณชายฝั่งหาดกะรน อ.เมืองภูเก็ต เพื่อตรวจสอบกรณีเกิดเหตุสัตว์ทะเลไม่ทราบชนิดกัดนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย น.ส.เจน เนียมี อายุ 37 ปี ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณหลัง และใต้ฝ่าเท้าซ้าย ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เหตุเกิดบริเวณชายหาดกะรน เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2558 ที่ผ่านมา

นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวถูกสัตว์ทะเลกัดบริเวณเท้า และเป็นแผลฉกรรจ์ ซึ่งหลังรับทราบทางจังหวัดได้สั่งการให้ทางศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ภูเก็ต และตำรวจน้ำภูเก็ต นำเรือพร้อมนักประดาน้ำสำรวจบริเวณจุดเกิดเหตุเพื่อตรวจสอบว่า สัตว์ทะเลที่ทำร้ายนักท่องเที่ยวเป็นสัตว์ชนิดใด นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับทางทัพเรือภาคที่ 3 นำเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจบริเวณอ่าวกะรน เพื่อตรวจสอบหาชนิดของสัตว์ทะเลที่ทำร้ายนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งเพื่อความชัดเจน เนื่องจากขณะนี้มีความเห็นของนักวิชาการออกเป็น 2 ส่วน กลุ่มหนึ่งมองว่า เป็นบาดแผลจากถูกฉลามกัด ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่า เป็นบาดแผลเกิดจากปลาปักเป้า หรือกลุ่มปลาวัว

ไม่ว่าบาดแผลดังกล่าวจะเกิดจากปลาชนิดใดทำร้าย ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต โดยผู้ว่าฯ ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวัง และดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว สั่งการให้ทางอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ได้แจ้งให้แก่ทางโรงแรมทราบ และเพื่อแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวระมัดระวังในการลงเล่นน้ำบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฯ นำเรือ และนักประดาน้ำออกสำรวจใต้น้ำบริเวณที่เกิดเหตุ และใกล้เคียง จากการสำรวจก็ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ พบแต่เพียงปลาสวยงาม และปลาขนาดเล็กที่ไม่สามารถทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยวได้ พร้อมกันนี้ ยังได้ร่วมกับทางทัพเรือภาคที่ 3 และนักวิชาการขึ้นบินสำรวจเพื่อพิสูจน์ทราบ แต่ก็ยังไม่พบสัตว์ใหญ่ หรือความผิดปกติแต่อย่างใด” นายสุธี กล่าวและว่า

จากการดำเนินการมาตรการต่างๆ ดังกล่าวของทางจังหวัด ทั้งการประกาศเตือน และการเฝ้าระวังทั้งทางทะเล และทางอากาศ สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว สามารถมาท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้ด้วยความปลอดภัย แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสัตว์ชนิดใดที่ทำร้ายนักท่องเที่ยว เนื่องจากยังไม่พบ แต่เรามีมาตรการในการดูแล และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่มาท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งยังคงมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบ และเฝ้าระวังในจุดเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง ขณะภาพรวมบริเวณชายหาดดังกล่าวยังคงมีนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำตามปกติ

ด้าน น.อ.พงศ์จักร อุไรมาลย์ ผู้บังคับหมวดบินเฉพาะกิจ ทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการบินสำรวจลาดตระเวนบริเวณชายหาดต่างๆ ตามภารกิจปกติ ซึ่งจะมีการบิน 6-7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไม่เคยพบเห็นปลาขนาดใหญ่ โดยในส่วนของหมวดบินเฉพาะกิจฯ พร้อมเข้าสนับสนุนภารกิจของจังหวัดตามที่มีการร้องขอ

ขณะที่ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน ยังคงยืนยันว่า จากการที่ตรวจสอบรอยบาดแผล และพูดคุยกันกับนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับลักษณะของการถูกกัด ซึ่งบอกว่า จะเป็นการกัด 1-2 ครั้ง โดยอยู่บริเวณน้ำตื้นประมาณ 1 เมตร และกระโดดบริเวณคลื่นหัวแตก รวมถึงลักษณะของบาดแผลมีการฉีกขาด ลักษณะของฟันที่จะทำให้เกิดบาดแผลในลักษณะดังกล่าวได้มีเพียงฉลามอย่างเดียว และมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยยืนยัน นอกจากนี้ ในบริเวณดังกล่าวก็เคยมีการตกได้ฉลามหูดำปีละ 2-3 ตัว แต่ฉลามดังกล่าวจะพบได้ในแนวปะการัง โอกาสที่จะทำร้ายคนมีน้อย ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่าน่าจะเป็นฉลามชนิดบลูชาร์ก หรือฉลามกระทิง ซึ่งใหญ่สุด 3-4 เมตร ส่วนรอยบาดแผลของนักท่องเที่ยวที่ถูกกัดนั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร น่าจะมีความยาวประมาณ 1-1.5 เมตร แต่ฉลามชนิดนี้จะมีโอกาสพบได้น้อยมาก

ด้าน นายทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจและวิเคราะห์สภาวะทรัพยากรและประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต) กล่าวว่า ข้อมูลของกรมประมงเกี่ยวกับฉลามบลูชาร์ก หรือฉลากหัวบาตรนั้น สามารถพบอยู่กระจายทั่วไปทั้งฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย เป็นปลาขนาดเล็กที่เข้ามาอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำ แต่จากข้อมูลพบว่า มีการทำร้ายคนเล่นน้ำมีน้อยมาก ดังนั้น ความเห็นจากทางกรมประมง และปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากประเทศมาเลเซีย และนักดำน้ำที่มีประสบการณ์สูงยืนยันว่า บาดแผลดังกล่าวไม่ใช่บาดแผลที่เกิดจากปลาฉลามกัด เพราะหากฉลากกัดเนื้อจะหลุดไปทั้งก้อน เพราะเมื่องับแล้วจะมีการสะบัดหัว แต่ลักษณะแผลของนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียนั้นเป็นการปักลงไปแล้วเนื้อบนหลังเท้าหลุด ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นบาดแผลจากกลุ่มปลาปักเป้า หรือกลุ่มปลาวัว แต่ปกติปลาเหล่านี้ก็จะไม่ทำร้ายคน แต่อาจเป็นความบังเอิญที่ปลาชนิดนี้ผ่านมายังบริเวณที่นักท่องเที่ยวเล่นน้ำอยู่ และหวงอาณาเขต เมื่อคนไปโดนจึงเกิดอาการตกใจ และงับจนเกิดเป็นแผลขึ้น ประกอบกับจากการพูดคุยกับแพทย์ที่ทำการรักษานักท่องเที่ยวคนดังกล่าวจึงยังคงยืนยันว่า เป็นบาดแผลจากกลุ่มปลาปักเป้า หรือปลาวัว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าของวันนี้ (3 ก.ย.) เจ้าหน้าที่จากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 ภูเก็ต จำนวน 6 นาย นำนักดำน้ำอาสาสมัครจากชมรมดำน้ำภูเก็ต จำนวน 9 คน เจ้าหน้าตำรวจน้ำ 3 นาย ร่วมกันดำน้ำค้นหาสัตว์ทะเลต้องสงสัยบริเวณจุดเกิดเหตุในรัศมีประมาณ 2 กิโลเมตร ออกค้นหาใต้น้ำโดยผลการลาดตระเวนใต้น้ำไม่พบสัตว์ต้องสงสัยอื่นนอกจากปลาปักเป้า ประมาณ 5 ตัว ขนาดเฉลี่ยประมาณ 1-3 กิโลกรัม ปลาหน้าวัวอีกจำนวนหนึ่ง และปลาไหลมอเร่

ในส่วน นายทวีศักดิ์ ไตรรัตน์ หนึ่งในทีมนักดำน้ำที่ออกลาดตระเวนใต้ทะเล กล่าวว่า การดำน้ำในครั้งนี้พบเพียงปลาปักเป้า ปลาหน้าวัว และปลาไหลมอเร่ ที่วนเวียนอยู่บริเวณจุดเกิดเหตุ ส่วนปลาฉลามนั้นไม่มีวี่แวว ซึ่งตนเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ว่าปลาที่กัดนักท่องเที่ยวนั้นจะเป็นปักเป้า ขณะที่ทีมนักดำน้ำของตำรวจน้ำก็เจอเพียงปลาปักเป้าเช่นกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น