นครศรีธรรมราช - พิรุธ! ผู้รับเหมาไล่รื้อเสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปสัตว์เมืองพระออกหมดแล้ว ทั้งที่เพิ่งติดตั้งไปเพียงไม่ถึงสัปดาห์ หลังก่อนหน้า ปชช.ตาไวพบป้ายโครงการมีข้อความไม่ครบถ้วน
วันนี้ (26 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า ภายหลังจากที่มีประชาชนตาไว พบเห็นการติดตั้งป้ายแสดงโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรม ที่มีข้อความไม่ครบตามกฎหมายของเทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในการแสดงงบประมาณ และปริมาณงาน บริเวณแยกหัวถนน ไปจนถึงสุดเขตเทศบาลที่ถนนทุ่งปรัง ต.ศาลามีชัย อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
จนกระทั่งเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ประกอบกับมีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชอย่างเข้มข้น ทั้งในส่วนขององค์กรตรวจสอบ แม้ว่ายังไม่เห็นผลมากนักก็ตาม ในขณะที่สังคมออนไลน์ และภาคประชาชนได้เพิ่มความตื่นตัวต่อการตรวจสอบในเรื่องนี้อย่างเข้มข้นเช่นกัน
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ ล่าสุดนั้นพบว่า หลังจากประเด็นการติดตั้งป้ายที่ไม่แสดงงบประมาณ และปริมาณงานได้ถูกนำเสนอออกไปไม่กี่ชั่วโมง ปรากฏว่า เสาไฟฟ้าประติมากรรมในบริเวณที่เป็นข่าวได้ถูกช่างเข้ามารื้อถอนออกทั้งหมด ทั้งที่ได้มีการติดตั้งไปแล้วเสร็จเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มความคลางแคลงให้แก่ผู้ที่ติดตามเรื่องนี้เป็นอย่างมากเข้าไปอีก โดยพบว่า การรื้อถอนนั้นเกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากข้าราชการรายหนึ่งซึ่งได้อธิบายถึงเรื่องนี้พร้อมทั้งขอปกปิดชื่อ เนื่องจากเกรงผลประทบภายหลังได้ระบุว่า การติดตั้งเสาดังกล่าวนั้นยอมรับว่าไม่รู้ว่ามีการใช้งบประมาณมากน้อยแค่ไหน ส่วนสาเหตุที่มีการรื้อถอนนั้นทราบว่าผู้ที่มีหน้าที่ในการตรวจรับงานไม่ลงนามตรวจรับงานจ้าง เนื่องจากพบว่าผลงานไม่ตรงตามแบบ จึงไม่กล้ารับงาน และไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องต่อประเด็นที่เป็นข่าวหรือไม่
ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกตว่าการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมบนถนนหลายสายของตัวเมือง โดยเฉพาะเส้นทางถนนกะโรม เส้นทางแยกหัวถนน ไปจนถึงแยกนาหลวง มีการติดตั้งเพียงตัวเสา และรูปสัตว์ที่ถูกระบุว่า เป็นประติมากรรมเท่านั้น ส่วนโคมไฟนั้นใช้ของเก่าทั้งหมด กลับมีราคาที่สูงมากในราคาหลายหมื่นบาท หรือเกือบ 1 แสนบาท
จนถึงขณะนี้ชาวสังคมออนไลน์เริ่มมีการสืบค้นราคาเสาไฟฟ้าส่องสว่างเหล่านี้แล้ว ว่ามีต้นทุนราคาแท้จริงต้นละเท่าไหร่ เพื่อมาเทียบเคียงกับราคาจ้างเหมาว่ามีราคาสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของท้องถิ่นด้วยภาคประชาชน ผ่านสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจเป็นแห่งแรกๆ ของประเทศไทยที่ประชาชนเริ่มกระบวนการตรวจสอบด้วยวิธีนี้