xs
xsm
sm
md
lg

ชุมพรใช้ “เครื่องสแกนระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์” วัดค่าอ่อน-แก่ทุเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุมพร - ชุมพรใช้ “เครื่องสแกนระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์” วัดค่าอ่อน-แก่ทุเรียน ป้องกันพ่อค้าแม่ค้าตัดทุเรียนอ่อนส่งขาย ส่งผลกระทบระบบเศรษฐกิจของจังหวัด

วันนี้ (17 ส.ค.) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพร ตำบลชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร ได้จัดงานวันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2558 ระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2558 ภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยียุคดิจิตอล เทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยภายในงานดังกล่าว รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน รองอธิการบดี สลจ.วิทยาเขตชุมพร ได้มอบ “เครื่องสแกนไมโครเวฟเซ็นเซอร์วัดค่าความอ่อนแก่ทุเรียน” จำนวน 10 เครื่อง ให้แก่ นายวงศศิริ พรหมชนะ ผวจ.ชุมพร เพื่อนำไปวัดค่าความอ่อนแก่ของทุเรียนใน จ.ชุมพร ป้องกันชาวสวน พ่อค้า แม่ค้าตัดทุเรียนอ่อนออกมาจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ

ผศ.ดร.ศรวัฒน์ ชิวปรีชา หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สลจ. ทีมคณะวิจัย กล่าวว่า “ เครื่องสแกนระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์” ตรวจสอบคุณภาพวัดค่าความอ่อน-แก่ของผลทุเรียน เป็นโครงการวิจัยชื่อ “เซ็นเซอร์ไมโครเวฟเพื่อการเกษตร” ภาควิชาวิศวกรรมโทรมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ศึกษาวิจัยนานหลายปี

จนกระทั่งสามารถย่อส่วนลงมาให้เล็กกะทัดรัด ราคาเหลือเพียงหลักหมื่นบาท เน้นการใช้งานง่าย และที่สำคัญราคาต้องไม่สูงเกษตรกรจะได้มีกำลังซื้อ เครื่องทำงานด้วยคลื่นความถี่ 915 MHz. มีกำลังส่ง 10 มิลลิวัตต์ ใช้เสาอากาศ 2 ชุด คือ ด้านรับ TR-Ant และด้านส่ง Tx-ant จุดวัดทุเรียนจะอยู่ตรงกลาง สามารถสแกนวัดค่าจะรู้ผลเป็นภาษาไทยได้ภายในไม่ถึง 1 วินาที ว่าทุเรียนมีคุณภาพอ่อน หรือแก่ เพราะจากการศึกษาพบว่า ทุเรียนอ่อน และแก่จะได้ค่าแตกต่างกันหรือมีความต้านทานไม่เท่ากัน ทำให้เครื่องสแกนระบบไมโครเวฟเซ็นเซอร์สามารถวัดค่าได้อย่างแม่นยำ

นายวงศศิริ พรหมชนะ ผวจ.ชุมพร กล่าวว่า ทุเรียนเป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักของจังหวัดชุมพร ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตรวม 131,741 ตัน ส่งออกต่างประเทศ 123,009 ตัน มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมา มีปัญหาคือการตัดทุเรียนที่ไม่มีคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และเศรษฐกิจโดยรวม มีการจับกุมพ่อค้า และชาวสวนดำเนินคดีไปหลายรายแล้ว

แต่มีปัญหาคือ ยังไม่มีเครื่องมือตรวจที่มีประสิทธิภาพ ใช้เพียงการเคาะ และดูสภาพภายนอกและส่งเนื้อตัวอย่างไปตรวจสอบด้วยกระบวนการผ่านความร้อนที่ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ผลการวิจัยครั้งนี้มีประโยชน์ต่อชาวสวนทุเรียนอย่างมาก ซึ่งทางจังหวัดชุมพรได้สั่งซื้อเครื่อง จำนวน 10 เครื่อง นำมาใช้เป็นแห่งแรกของประเทศเพื่อนำส่งไปประจำไว้ทั้ง 8 อำเภอขอจังหวัดชุมพร และอีก 2 เครื่อง ไว้ประจำที่สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร เพื่อให้เจ้าหน้าทีใช้ในการตรวจสอบทุเรียนอ่อนให้ทันในฤดูกาลผลิตนี้ต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น