xs
xsm
sm
md
lg

ถกเครียด! แก้ปัญหารถรับ-ส่ง นร.หวั่นเกิดเหตุซ้ำ พบ 2 พันคันถูกต้องแค่ 30% ขนส่งแนะ คสช.แก้ปัญหา (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นราธิวาส - ถกเครียดแก้ปัญหารถรับ-ส่ง นร. หวั่นเกิดเหตุร้ายซ้ำ 10 ศพ ตรวจสอบพบ 2,000 คัน ถูกต้องแก้แค่ 30% ขนส่งแนะ คสช.เข้าร่วมแก้ปัญหาด่วน
   


 
วันนี้ (17 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม อบต.ไพรวัน บ้านกูบู ม.6 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส นายมาหะมะพีสกรี วาแม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.นราธิวาส และนายอดุลย์ หะยีสะ นักวิชาการขนส่งชำนาญงาน สำนักงานขนส่ง จ.นราธิวาส และ พ.ต.ต.นพดล กิ่งทอง พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ สภ.ตากใบ ได้ร่วมประชุมกับตัวแทน สำนักงานสาธารณสุข โรงพยาบาลนราธิวาสฯ บริษัทกลางคุ้มครองภัยจากรถ และญาติของนักเรียนที่เสียชีวิต 10 ศพรวมคนขับรถ

จากอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนชนต้นไม้ที่บ้านสะปอม ม.8 ต.ไพรวัน อ.ตากใบ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวมนำข้อมูลในที่ประชุมส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดนำไปแก้ไขรถรับส่งนักเรียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ ที่ศาลากลาง จ.นราธิวาส ในการป้องกันเพื่อไม้ให้เหตุร้ายเกิดซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

 
โดยในที่ประชุมได้มีการเสนอแนะไว้ 3 ข้อหลักๆ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยสำคัญๆ 3 ประการ คือ คนขับ รถยนต์ และถนน ที่ต้องมีการวางมาตรการออกมาบังคับใช้ และแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งในส่วนของถนนมีการเสนอแนะให้ตัดต้นไม้ใหญ่ริมทางที่เกะกะ รวมทั้งการใช้สีที่สำหรับตีเส้นขอบทางมาตีเส้นเป็นแนวลูกระนาดในจุดก่อนถึงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเตือนสติให้คนขับรถทราบว่า ข้างหน้าเป็นจุดที่ต้องใช้ความระมัดระวัง

ส่วนรถยนต์กระบะที่ใช้สำหรับดัดแปลงมาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนนั้น ควรที่จะต้องมีการตรวจสภาพของรถอย่างรัดกุม และละเอียดกว่ารถยนต์กระบะทั่วไปในทุกๆ ปี ส่วนกรณีคนขับนั้นอยู่ที่จิตสำนึกของแต่ละคนว่ามีความรับผิดชอบเพียงใด

ทางด้าน พ.ต.ต.นพดล กิ่งทอง พนักงานสอบสวนผู้ชำนาญการ สภ.ตากใบ กล่าวในที่ประชุมพอสรุปใจความว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นต่อนักเรียนที่เสียชีวิตนั้น ในเบื้องต้น จากการตรวจสอบ และประเมินจุดเกิดเหตุคาดว่าน่าจะมาจากคนขับหลับใน

ด้าน นายอดุลย์ หะยีสะ นักวิชาการขนส่งชำนาญการ สำนักงานขนส่ง จ.นราธิวาส กล่าวว่า ในไทยมีกฎหมายอยู่ 2 ตัว คือ กฎหมายขนส่งกับรถยนต์ โดยระบุไว้เลยว่า รถนักเรียนเป็นอย่างไรตั้งแต่ปี 2522 ว่าต้องเป็นสีเหลืองคาดดำ มีทางขึ้นลงสะดวก มีไฟกะพริบบนหลังคา 4 ดวง เวลาเขาขับรถรับส่งนักเรียนจะได้รับการคุ้มครองสิทธิ รถคันอื่นๆ ที่เห็นจะชะลอความเร็ว และหลีกทางให้

 
แต่พอมีรถดัดแปลงรับส่งนักเรียนมากขึ้น กลุ่มรถรับจ้างประจำทางเขากระทบจึงมีการฟ้องร้องกันที่ศาลปกครองเชียงใหม่ และพิพากษาว่า กฎหมายที่ออกมาใช้ไม่ได้ เพราะรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้เป็นรถรับจ้างไม่ได้ พอกฎหมายล้มเหลวกรมแพ้คดี ทำอย่างไรถึงไม่มีกฎหมาย จึงได้มีการดึงกลุ่มบุคคลที่ประกอบอาชีพด้านนี้มาพูดคุยที่โรงแรมรามา กรุงเทพมหานคร

แต่ยังไม่มีการสรุปก็มาเกิดเหตุที่ตากใบขึ้น จึงต้องการให้ทาง คสช. สั่งทหารจับรถจับชาวบ้าน ดูกฎหมายเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะให้ดำเนินกิจการต่อหรือไม่ หรือว่ากันไปตามระเบียบที่จะให้แก้ไขกลุ่มรถดัดแปลงมาใช้รับส่งนักเรียนจุดใดบ้าง เพื่อให้มีความปลอดภัยสูงสุด

นอกจากนี้ รถยนต์กระบะที่ได้ดัดแปลงมาใช้บรรทุกนักเรียนในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีประมาณ 2,000 คัน และได้ขออนุญาตต่อสำนักงานขนส่งที่ถูกต้องตามกฎหมายมีเพียงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่มาที่ไปของรถยนต์กระบะได้ดัดแปลงมาใช้บรรทุกนักเรียนนั้น เริ่มแรกเดิมที ครูในโรงเรียนนั้นๆ จะขับรถยนต์กระบะไปสอนเด็กนักเรียน ทางผู้ปกครองเห็นจึงได้ขอฝากเด็กนักเรียนไปด้วย เพื่อผู้ปกครองจะได้มีเวลาในการประกอบอาชีพการงาน ที่ไม่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนหนังสือด้วยตนเอง

จากนั้นจึงมีการฝากครูจนเต็มคันรถ แถมมีรายได้เสริม ชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงได้มีแนวคิดนำรถยนต์กระบะดัดแปลงมาใส่หลังคา แล้วรับจ้างส่งนักเรียนเป็นรายเดือน ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่งที่ได้ทำตามกันมาจนถึงทุกวันนี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น