xs
xsm
sm
md
lg

ข้อสังเกตต่อกลยุทธ์ความเคลื่อนไหวของทั้ง กฟผ. ฝ่ายหนุน และฝ่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
ในฐานะสื่อ และในฐานะหุ้นส่วนของประเทศไทย 1 หุ้นเท่าๆ กับทุกคน ได้ติดตามปรากฏการณ์โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา มาโดยตลอด ซึ่งเป็นการติดตาม และศึกษาทั้งในด้านข้อมูล รวมทั้ง “กลยุทธ์” และ “ยุทธวิธี” ทั้งของฝ่ายเจ้าของโครงการอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และฝ่ายต่อต้าน หรือกลุ่มคนผู้เห็นต่าง ทั้งที่เป็นชาวบ้าน นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน หรือที่คนทั่วๆ ไปจะเรียกกันว่า เอ็นจีโอ นั่นแหละ
 
โดยเฉพาะก่อนหน้าที่จะมีการทำ ค.3 หรือเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ของ กฟผ.นั้น มีการเพิ่ม “ตัวละคร” ของความขัดแย้งบนเวทีของการสนับสนุน และการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งตัวละครที่เพิ่มขึ้น และกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกคือ...
 
“ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (ธำรงค์ เจริญกุล)” นั่นเอง
 
ผู้เขียนอาจจะไม่เหมือนกับอีกหลายคนที่อินกับข้อมูลของแต่ละฝ่าย เพราะมีการเลือกข้าง และตั้งธงในฐานะผู้คัดค้าน และผู้สนับสนุน หรือเป็นกองเชียร์ ซึ่งผู้ที่มีธงในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะรู้สึกเครียด โกรธแค้น ไม่พอใจ ฯลฯ แต่ผู้เขียนติดตามความเคลื่อนไหวของทุกฝ่ายด้วยความเบิกบานในการที่ได้เห็น ได้รับรู้ในทุกเรื่อง โดยเฉพาะข่าวสารที่เกิดขึ้น และถาโถมเข้ามา ทั้งจากสื่อกระแสหลัก และสื่อภาคประชาสังคม
 
มีทั้งข่าวจริง ข่าวเท็จ ข่าวปล่อย ข่าวปลอม ข่าวที่เกิดจากความรู้สึกส่วนตัว ข่าวที่มาจากความอคติ ข่าวมั่ว ข่าวที่มาจากความเชื่อโดยไร้เหตุผล และข่าวที่มีเหตุผลเพียงพอต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งสรุปได้ว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวโครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นการต่อสู้ของคน 2 ฝ่าย คือ เจ้าของโครงการที่มีชาวบ้านในพื้นที่ (ส่วนใหญ่) ให้การสนับสนุน และกลุ่มผู้คัดค้านที่มีคนในพื้นที่ (ส่วนน้อย) นักวิชาการ ชาวบ้าน (นอกพื้นที่) และมีเอ็นจีโอเป็นผู้นำ
 
การต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ของ “สงครามข่าวสาร” ที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี และน่าสนับสนุน เนื่องจากโครงการใหญ่ๆ ทุกโครงการนั้นจำเป็นที่จะต้องตัดสินกันด้วยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะชี้ชัดให้เห็นว่าของใครเป็นเท็จ เป็นของปลอม เป็นข่าวมั่วแบบจับแพะชนแกะ หรือข่าวสารของใครเป็นข่าวจริง มีที่มาที่ไปที่เชื่อถือได้ ซึ่งการต่อสู้ด้วยการทำสงครามข่าวสารเป็นการ “ติดอาวุธทางปัญญา” ให้แก่ประชาชน และประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจได้ในที่สุดว่า จะสนับสนุน หรือจะต่อต้าน
 
เชื่อว่าวันนี้ถ้าผู้ที่มีส่วนได้-เสียต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หากได้ติดตามข้อมูลของทั้งของ กฟผ.และของเอ็นจีโอที่นำออกมาตีแผ่ก็น่าจะตัดสินใจได้บ้างแล้วว่า ข้อมูลของฝ่ายไหนเท็จ ฝ่ายไหนจริง เพื่อที่จะใช้ในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และของมาตุภูมิ
 
นอกจากเรื่องของสงครามข่าวสารที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำมาต่อสู้หักล้างกันในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ผู้เขียนยังมองเห็น และชื่นชอบในกลยุทธ์ของทั้ง 2 ฝ่ายที่นำมาใช้ในการทำเวที ค.3 ในขณะที่เจ้าของโครงการต้องการเน้นให้สังคมเห็นว่า คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ด้วยการเน้นที่จำนวนตัวเลขของคนในพื้นที่ เพื่อนำมาข่ม หรือเปรียบเทียมจำนวนกับผู้คัดค้านที่มีคนในพื้นที่เป็นส่วนน้อย แต่มีคนนอกพื้นที่มากกว่า
 
รวมทั้งในยุทธวิธีให้ผู้ที่คัดค้านได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับเรื่องเห็นต่างในเวทีจำนวนหนึ่ง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้าง และให้เห็นถึงความชอบธรรมของเวที ค.3 เป็นการลบข้อครหา และทำลายน้ำหนักการถูกกล่าวหาว่า มีการกีดกันฝ่ายคัดค้านไม่ไห้เข้าไปแสดงความคิดเห็น หรือคัดค้านโครงการดังกล่าว
 
ส่วนผู้คัดค้านซึ่งมีเสนาธิการที่เก่งก็มีการกำหนดยุทธศาสตร์แย่งชิงพื้นที่สื่อ โดยใช้กำลังคนที่มีจำนวนน้อยให้เป็นประโยชน์  ด้วยการถือป้ายคัดค้านเดินเท้าเข้ามาในพื้นที่เวที ค.3 ทั้งที่รู้ว่ามีคำสั่งห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือกระทำการที่เป็นปรปักษ์ขัดขวางจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา
 
แต่กลุ่มผู้คัดค้านพร้อมด้วยอาวุธสำคัญคือ ป้ายที่แสดงคำคัดค้าน และต่อต้านคำสั่งของนายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เดินเท้าเข้ามายังพื้นที่การรับฟังความคิดเห็น และมีการกำหนดจุดที่จะไปยืนถือป้ายคัดค้านยังจุดที่มี “รั้วลวดหนาม” ที่ทหาร และตำรวจวางกั้นไว้ตามแผนการรักษาความสงบเรียบร้อย
 
ยุทธศาสตร์นี้คือ การแย่งชิงพื้นที่ข่าวที่ได้ผล และเป็นยุทธศาสตร์ที่ลงทุนเพียงน้อยนิด แต่ได้ผลมหาศาล เพราะสื่อที่มีจิตวิญญาณความเป็นสื่อที่ไม่ทำตัวเป็นขี้ข้ารับใช้ไม่ว่าฝ่ายไหน ต้องนำเสนอภาพนี้แทนภาพของบุคคลที่อยู่บนเวที ค.3 อย่างแน่นอน
 
และก็เป็นไปตามที่เสนาธิการของฝ่ายต่อต้านกำหนดไว้ เพราะภาพของผู้ถือป้ายคัดค้านที่ยืนอยู่หน้าลวดหนาม และเครื่องกีดขวาง นั่นเป็นตัว “ขับเน้น” ให้เห็นถึงความรุนแรง และการขัดขวาง ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงในการจัด ค.3 ครั้งนี้ ตำรวจ และทหารไม่ได้เข้มงวดเท่าที่ควร ถ้าใครคิดจะวางระเบิดโดยการทำ “จยย.บอมบ์” ให้สักคันสองคัน มีโอกาสที่จะก่อเหตุได้สบายมาก
 
ดังนั้น จึงอย่าได้แปลกใจว่าทำไมภาพที่ถูกนำมาประกอบข่าวการทำ ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาของสื่อทุกสำนัก ไม่นับสื่อภาคประชาสังคม จึงเป็นภาพของผู้ที่คัดค้าน ซึ่งมีไม่ถึง 50 คนด้วยซ้ำ และนี่คือความชาญฉลาดของกลุ่มผู้คัดค้านในการแย่งพื้นที่สื่อไปได้
 
ผู้เขียนชื่นชอบในเรื่องของการต่อสู้ของข้อมูลข่าวสารที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำมาสู้กันบนเวทีของข้อเท็จจริง และชื่นชอบในยุทธศาสตร์ของทั้ง 2 ฝ่ายที่นำมาใช้ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนเอง แต่สิ่งที่ไม่ค่อยเห็นด้วยคือ การนำเสนอข่าวที่มีลักษณะที่มีการ “ดูหมิ่นดูแคลน” ฝ่ายตรงข้ามที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำมาป้ายสีใส่กัน เพราะเห็นว่า วิธีการดังกล่าวเป็นการสร้างความแตกแยก สร้างความบาดหมางให้เกิดขึ้นในสังคม
 
อย่างการกล่าวว่า ชาวบ้านผู้เข้าร่วมเวทีถูก กฟผ.ซื้อ หรือหลอกล่อให้สนับสนุนโครงการด้วยอามิสสินจ้าง มีการแจกเงิน แจกสิ่งของเสื้อผ้า และมีรถรับ-ส่ง เพราะโดยความเป็นจริงสำหรับสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไร รวมทั้งการเลือกตั้งทุกระดับ ต่างต้องมีการ “ลงทุน” ในลักษณะของการให้ความสะดวกด้วยการช่วยเหลือ เช่น ต้องหยุดงาน 1 วันเพื่อมาร่วมเวที ซึ่งการหยุดงานหมายถึงการขาดรายได้ จึงต้องมีการชดเชย รวมทั้งการให้ข้าวปลาอาหาร
 
วันนี้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นของการจัดเวที เพราะแม้แต่เวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย 11 ด้านที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ก็ต้องมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยง และค่าอาหาร หากไม่ทำจะมีคนมาร่วมอย่างหร็อมแหร็ม
 
ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดความรู้ที่ไม่ดีต่อกัน และเกิดความแตกแยกในสังคมมากขึ้น จึงไม่ควรหยิบมาเป็นประเด็นการโจมตีชาวบ้านในลักษณะที่หมิ่นแคลน เหมือนกับการทำลายศักดิ์ศรีที่อาจจะเป็นการแยกผู้คนให้เป็นฝ่ายตรงข้ามมากยิ่งขึ้น
 
ในขณะเดียวกัน กฟผ. และกองเชียร์ก็ไม่ควรหยิบประเด็นจำนวนผู้คนที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า เป็นคน “ส่วนน้อย” หรือแค่หนึ่งหยิบมือ และส่วนใหญ่เป็น “คนนอก” ที่ไม่ใช่คนใน อ.เทพา จ.สงขลา อย่าใช้คำว่า “เสือก” อะไรกับอนาคตของคนเทพา
 
เพราะประเด็นสำคัญของการคัดค้านของกลุ่มคนที่เห็นต่าง ไม่ได้วัดจากจำนวนคนว่าแค่หนึ่ง หรือสองหยิบมือ แต่สิ่งสำคัญคือ “ข้อมูล” ของการคัดค้านว่าเป็นจริงหรือไม่ เพราะถ้าค้านด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ แม้จะมีคนมาเป็นเรือนหมื่นก็เท่ากับเป็นการมาแก้ผ้าต่อหน้าสาธารณชน ซึ่งเป็นการฆ่าตัวตายนั่นเอง การนำตัวเลขของกลุ่มผู้คัดค้านมาใช้ในการหมิ่นแคลน อาจจะทำให้จำนวนผู้คัดค้านยิ่งมากขึ้นๆ ในอนาคตก็เป็นไปได้
 
อีกหนึ่งอย่างที่ไม่อยากเห็นในเวทีของการคัดค้าน และการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คือ ทั้ง 2 ฝ่ายอย่ามี และอย่าให้ “อคติส่วนตน” ในการแสดงความคิดเห็น เช่น ไม่ชอบกันเป็นการส่วนตัวก็ป้ายสีให้เสียหายหรือเกินจริง
 
ทั้ง 2 ฝ่ายต้องแยกแยะให้ออกในเรื่องข้อเท็จจริงของข้อมูลโครงการโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเป็นสำคัญ โดยไม่เอาเรื่องส่วนตัว หรือพฤติกรรมส่วนตนออกใช้เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่ได้ก่อประโยชน์ในการที่จะบอกต่อสังคมว่า ควรจะเอา หรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 

 
อย่างเช่นวันนี้ หลายคนกำลังเล่น “เลยธง” คือ เอาเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินไปยึดโยงกับ “ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา” ซึ่งอาจจะมีลักษณะการพูดจาที่เป็น “เอกลักษณ์” ของใครของมันมาเป็นประเด็นเพื่อเพิ่มความขัดแย้งในเวทีของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จนละเลยข้อเท็จจริงว่า การจะเกิด หรือจะดับของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดคนไหน แต่เป็นเรื่องของคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบ หรือตัดสินใจ
 
อีกประเด็นที่เกิดขึ้นใน “สื่อภาคประชาสังคม” ในกลุ่มของเอ็นจีโอเองก็คือ การมองทุกฝ่ายที่คบหากับ กฟผ.หรือฝ่ายสนับสนุนว่า ถูก “ซื้อตัว” เป็นเรื่องของการไม่ให้เกียรติ และเป็นการทำลายล้าง หรือสร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น เช่น การที่ กฟผ.นัดสื่อไปพบปะสังสรรค์ กลับถูกโจมตีว่าสื่อสงขลาถูกซื้อไปแล้วโดยพ่อค้าถ่านหิน
 
แสดงให้เห็นว่า เป็นการไม่เข้าใจสื่อว่าอาชีพของสื่อนั้นคือต้องยืนอยู่บนความเป็นกลาง ต้องรับฟังความคิดเห็นของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องให้เกียรติแก่ทั้ง 2 ฝ่าย เมื่อ กฟผ.เชิญสื่อไปพบปะกินข้าวปลาอาหาร (เหล้า) ก็ไม่ได้หมายความว่า สื่อถูกซื้อไปแล้ว เพราะในขณะเดียวกัน เมื่อเอ็นจีโอเปิดเวทีชำแหละโครงการต่างๆ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม สื่อก็ไปทำข่าว ไปนั่งกินกาแฟกับเอ็นจีโอ
 
ถ้าการไปกินข้าวกับ กฟผ. หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาทำโครงการในพื้นที่ แล้วมีการเหมาว่านั่นคือการซื้อสื่อ แสดงว่าเอ็นจีโอก็เข้าข่ายซื้อสื่อเช่นเดียวกันอย่างนั้นหรือ
 
แน่นอนว่า โดยข้อเท็จจริงวันนี้มีสื่อที่ “ทรยศ” ต่อหน้าที่ และยอมที่จะ “ขาย” (หน้า) ในฐานะที่เป็น “สื่อธุรกิจ” ที่หน่วยงานต่างๆ สามารถ “สั่ง” ให้ไป “โชว์” ในงานเปิดการประชุม เปิดป้ายบริษัทห้างร้าน และ ฯลฯ เพื่อ “ตบตา” หรือ “ต้ม” เจ้านาย หรือเจ้าภาพให้เห็นว่า ตนเองสามารถเรียกสื่อมาร่วมงานได้มาก
 
แต่สรุปแล้ว “สื่ออาชีพ” ใน จ.สงขลา เป็นใคร และใครคือของจริง ใครคือของปลอม สังคมคนในพื้นที่ และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคือ ผู้ที่ให้คำตอบ ส่วนสื่อที่เข้ามาเพื่อรับประโยชน์นั้น สุดท้ายก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เพราะผู้อ่านคือ ผู้ที่ชี้ขาดว่าสื่อนั้นๆ มีจุดยืนเพื่อใคร
 
สุดท้ายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะเดินหน้าไปได้ตามที่รัฐบาลต้องการหรือไม่นั้นอยู่ที่ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กฟผ.ต้องให้ความจริง ด้วยการตอบข้อสงสัยของผู้คัดค้านที่ตั้งคำถาม ถ้าตอบได้ทุกประเด็นที่สงสัย และทำในสิ่งที่คนในพื้นที่ได้ประโยชน์
 
อย่างเช่น การได้ประโยชน์ของคนในพื้นที่ ไม่ใช่เรื่องการรับคนในพื้นที่เข้าเป็นพนักงาน เพราะพนักงานของโรงไฟฟ้ามีไม่ถึง 1,000 คน แต่คนใน อ.เทพา ที่ต้องการเป็นพนักงานมีเป็น 10,000 คน
 
ดังนั้น สิ่งที่ กฟผ.ต้องทำคือ การพัฒนาพื้นที่พัฒนาอาชีพเพื่อให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ก่อนที่จะเกิดโรงไฟฟ้าขึ้น ซึ่งหากทำได้จริงก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่
 
เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ที่คัดค้าน และเห็นต่าง ก็ต้องใช้ข้อมูลข่าวสารที่เห็นว่า กฟผ.ยังปกปิด ยังไม่ได้ให้ความจริงต่อประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าทำให้สาธารณะเห็นว่า ข้อมูลที่ กฟผ.ให้แก่ประชาชนเป็นเรื่องไม่จริง หรือคำถามที่ฝ่ายคัดค้านถามไป กฟผ.ตอบไม่เคลียร์ ซึ่งหากมากเข้าๆ จนกลายเป็นการสะสม และกดทับเมื่อไหร่ สังคมจะมีคำตอบเองว่าพวกเขาจะเป็น “คนเอาถ่าน” หรือจะเป็น “คนไม่เอาถ่าน”
 
ที่อยากเห็นน่ะ อยากเห็นจริงๆ คือ เวทีที่ไม่มีอคติ เป็นเวทีของความรู้ในเรื่องข้อมูลข่าวสารของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งได้ถกแถลงกันในทุกประเด็น โดยที่ไม่ต้องตั้งประจันหน้าเหมือนกับเป็นศัตรูกัน เพราะโดยข้อเท็จจริง คนที่เห็นต่าง หรือเห็นอะไรที่ไม่เหมือนกันก็สามารถเป็นเพื่อน เป็นมิตรกันได้ เพียงแค่ยอมรับในกติกา และรู้จักแพ้-ชนะกันด้วยเหตุและผล
 
เนื่องเพราะกระบวนการโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่อง “วิทยาศาสตร์” ที่ไม่ต้องใช้ “หมอผี” ในการ “สร้างผี” เพื่อมาหลอกลวงกันแต่อย่างใด
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น