xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตเร่งแก้ปัญหาชาวบ้านฉลองเหม็นขี้หมู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาชาวบ้านตำบลฉลอง จ.ภูเก็ต ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากฟาร์มเลี้ยงหมูที่ส่งกลิ่นเหม็นในบริเวณกว้าง มอบเทศบาลตำบลฉลอง และหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหาโดยด่วน

วันนี้ (23 ก.ค.) นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่แก้ไขปัญหากรณีได้รับความเดือดร้อนจากการเลี้ยงสุกรในพื้นที่หมู่ 9 ตำบลฉลอง โดยมี นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ นายก๊กใช่ แซ่อึ๋ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ต.ฉลอง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมภูเก็ต ปศุสัตว์จังหวัด และหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วม

นายก๊กใช่ แซ่อึ๋ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9 กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีชาวบ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลฉลอง กว่า 100 หลังคาเรือน ได้ร้องเรียนมายังตนในเรื่องความเดือดร้อนที่มีกลุ่มคนเลี้ยงสุกรประมาณ 5 ราย ซึ่งมีจำนวนสุกรไม่ต่ำกว่า 300 ตัว เลี้ยงสุกรไม่ถูกสุขอนามัย อีกทั้งไม่ได้มีการติดตั้งบ่อบำบัด หรือบ่อเก็บมูลสัตว์ และยังได้นำมูลสัตว์ทิ้งลงในลำคลองสาธารณะ จนน้ำในลำคลองดำสนิท และกลิ่นมูลสัตว์ได้ส่งกลิ่นเหม็นเป็นอาณาเขตที่กว้าง จนชาวบ้านทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว และช่วงกลางวันยังได้ฆ่าสุกรเพื่อชำแหละขาย โดยไม่ได้ผ่านการอนุญาตที่ถูกต้อง หลังจากนั้น ตนได้นำหนังสือมามอบให้แก่ศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่ลงมาตรวจสอบปัญหาดังกล่าว

นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านเลี้ยงสุกรอยู่เป็นพื้นที่ของเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ อีกทั้งฟาร์มสุกรที่เลี้ยงหากมองในแง่ของกฎหมายจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.หลายหน่วยงาน เช่น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ร.บ.เจ้าท่าภูมิภาค เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีหน่วยงานเข้าไปแก้ไขปัญหา และเพื่อให้ผู้ประกอบการ และชาวบ้านอยู่ร่วมกันได้ จึงมีแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการให้ทางเทศบาลตำบลฉลอง ระงับการก่อสร้างอาคารไม่ให้มีการสร้างอาคารเพิ่มโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ให้ทางปศุสัตว์จังหวัดภูเก็ต สำรวจแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ และจำนวนสุกรของผู้ประกอบการแต่ละราย เพื่อลดจำนวนสุกรให้มีปริมาณสอดคล้องต่อการบริหารจัดการพื้นที่ภายใน 10 วัน และให้ทางสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 ให้คำแนะนำต่อผู้ประกอบการในการปรับปรุงอาคาร สิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีการแก้ไขในระยะ 45 วัน โดยหลังจากครบกำหนดทางคณะทำงานจะลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น