คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในห้วงของเดือนรอมฎอนของปี 2558 ผ่านไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ เหลือเพียง 10 วันก็จะถึงวันออกบวช หรือ “ฮารีรายอ” และถือว่าเป็นช่วงของ 10 วันอันตราย เพราะข่าวที่ไม่ “ลับ” ทั้งจากสายข่าวของฝ่ายความมั่นคง และจากกลุ่มก่อการร้ายที่ประกาศชัดว่า จะมีการก่อเหตุร้ายใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนนี้
เมื่อดูสถานการณ์ที่ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์ พบว่า นับตั้งแต่เข้าสู้เดือนรอมฎอน “เหตุร้ายรายวัน” ในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ตลอดจนถึง 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ เทพา สะบ้าย้อย จะนะ และนาทวี มีเหตุการณ์ที่ลดน้อยลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
ถ้าใน 10 วันสุดท้ายก่อนที่จะถึงวันออกบวช สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยัง “นิ่ง” อย่างที่ผ่านมากว่า 2 สัปดาห์ นั่นย่อมหมายถึงความสำเร็จของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ภายใต้การนำของ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการทำความเข้าใจต่อทุกภาคส่วนในพื้นที่ ตั้งแต่แกนนำขบวนการก่อการร้าย กลุ่มผลประโยชน์ ผู้ศาสนา และอื่นๆ เพื่อให้หยุดการใช้ความรุนแรงในห้วงของเดือนรอมฎอน
และหาก 10 วันสุดท้ายไม่มีเหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นตามคำประกาศของกลุ่มขบวนการผู้ที่ยังเห็นต่าง และยังต้องการใช้ความรุนแรงตามแนวทางของขบวนการ แสดงให้เห็นที่ชัดขึ้นอีกว่า มีปรากฏการณ์ “ฟืนเปียก” เกิดขึ้นในกลุ่ม “แนวร่วม” ของขบวนการแล้วนั่นเอง
จากการตระเวนดูพื้นที่ใน 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตลอดตั้งในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ซึ่งเป็นไข่แดง เป็นฐานเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าเป็นทหาร ตำรวจ และพลเรือน ไม่มีมีความเข้มข้น หรือแตกต่างกว่าปฏิบัติการที่ผ่านมา
ถ้าแนวร่วมในพื้นที่เหล่านี้มีความต้องการที่จะก่อเหตุร้าย หรือสร้างสถานการณ์ร้ายๆ ให้เกิดขึ้น ยังสามารถที่จะปฏิบัติการได้ เพราะยังมี “ช่องว่าง” มากมายในแต่ละพื้นที่
เพราะโดยข้อเท็จจริงการใช้กำลังทาหาร ตำรวจ และพลเรือนในการคุ้มครองสถานที่ราชการ สิ่งสาธารณูประโยชน์ต่างๆ และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไม่มีประเทศไหนที่จะทำได้
การที่เหตุร้ายไม่เกิดเหตุร้ายรายวัน และไม่มีเหตุร้ายใหญ่ๆ เกิดขึ้นใน 7 หัวเมืองหลัก จึงเท่ากับว่า “แกนนำ” ส่วนใหญ่ยอมรับเงื่อนไขของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
เช่น การปลดหมาย พ.ร.ก.ให้แก่แนวร่วมที่เป็น “ผู้ต้องหาปลายแถว” กว่า 600 ราย ให้พ้นจากความผิดของการถูกกล่าวหา
การไม่ใช้กำลังเข้าปิดล้อม ตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย และไม่มีการติดตามจับกุมตัวผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.หรืออื่นๆ ในห้วงเดือนรอมฎอน เพื่อลดความรุนแรง และหลีกเลี่ยงการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับแนวร่วม หรือกลุ่มก่อการร้าย
การให้แนวร่วมส่วนหนึ่งที่ต้องการ “กลับบ้าน” มาอยู่กับครอบครัว มาปฏิบัติศาสนากิจในห้วงของเดือนรอมฎอน โดยที่ไม่มีการจับกุม และให้คุ้มครองให้มีความปลอดภัยจากการถูกควบคุมตัวจากหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ “ผู้ที่หลงผิด” หรือต้องการที่จะเลิกการเป็นผู้ก่อการร้าย เข้าสู่กระบวนการการ “กลับบ้าน” และ “กลับใจ” โดยที่ไม่มีโทษทางอาญา เป็นสิ่งที่แนวร่วมพึงพอใจ
หากเป็นจริงเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่าแนวทางที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นำมาใช้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และสอดคล้องต่อข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในเรื่องของความยุติธรรมที่เป็นปัญหา “รากเหง้า” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อทั้งแกนนำ และแนวร่วม ซึ่งเป็น “คนส่วนใหญ่” ต่างยอมรับต่อสิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นำเสนอ ย่อมจะทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดน้อยลง
แต่ยังมีแกนนำ และแนวร่วมอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่เห็นด้วยต่อแนวทางที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นำมาเพื่อใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
เพราะขณะนี้เริ่มมีเหตุร้ายเกิดถี่ขึ้น ทั้งในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เช่น ชุดคุ้มครองครูถูกระเบิดแสวงเครื่องติดๆ กัน 2-3 วันซ้อนในพื้นที่ จ.ปัตตานี มีเหตุฆ่ารายวันที่ประชาชนเป็นผู้เสียชีวิต และมีระเบิดแสวงเครื่องเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา
รวมทั้งมีการฆ่าแนวร่วมที่ “กลับใจ” เข้าสู่กระบวนการ “พาคนกลับบ้าน” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เสียชีวิตที่ ต.ดอนรัก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และล่าสุดคือ การยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตที่ จ.นราธิวาส
ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า ยังมีกลุ่มแกนนำ และแนวร่วมผู้ที่ยังเห็นต่างต่อแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐ โดยออกมาตอบโต้ และปฏิบัติการเพื่อให้คงความ “ขลัง” ของการประกาศที่จะให้ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนมีเหตุรุนแรงเป็นไปตามที่แนวร่วมได้ประกาศไว้
หากใน 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน กลุ่มก่อการร้าย หรือแนวร่วมสามารถที่จะก่อเหตุร้ายให้เกิดขึ้นได้จริง ยอมจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของมวลชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และหากเป็นเช่นนั้นจริงปรากฏการณ์ดีๆ ที่ผ่านมา 20 วันในห้วงเดือนรอมฎอนก็จะ “สูญสิ้น” โดยสิ้นเชิง
ดังนั้น ใน “10 วันอันตราย” นับแต่วันนี้ไป จึงเป็นห้วงเวลาที่สำคัญสำหรับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการที่จะป้องกันทั้งความปลอดภัยของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และป้องกันสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะ 7 หัวเมืองหลัก อย่าให้กลายเป็นเหยื่อของกลุ่มก่อการร้ายตามที่มีการประกาศล่วงหน้า ซึ่งถือว่าเป็นการ “ท้าทาย” อำนาจรัฐ ตามแบบฉบับของขบวนการก่อการร้าย
แม้ว่า ณ วันนี้จะดูว่าสถานการณ์ค่อนข้างจะนิ่ง แต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้อง “ไม่ประมาท” เพราะหลายเงื่อนไขที่ยังดำรงอยู่ และหลายเงื่อนไขที่เกิดขึ้นใหญ่ โดยล่าสุด เรื่องการส่ง “มุสลิมอุยกูร์” ที่ถูกคบคุมตัวอยู่ในไทยไปให้แก่ประเทศจีน จนมีการบุกสถานกงสุลไทยในประเทศตุรกี อาจจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่สำคัญวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ต้องไม่ลืมที่จะป้องกันเมืองท่องเที่ยวทุกแห่งใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพราะเป้าหมายของกลุ่มก่อการร้ายไม่ได้มีอยู่แค่ 3 จังหวัด กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมทั้ง อ.หาดใหญ่ เท่านั้น แต่วันนี้เป้าหมายของขบวนการก่อการร้ายคือ เมืองเศรษฐกิจ และท่องเที่ยวทั้งหมด