xs
xsm
sm
md
lg

“สาปีนะห์ แมงสาโมง” ผู้ปลุกปั้นธนาคารต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์พืชสมุนไพรพื้นบ้านแห่งลุ่มน้ำบางนรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สาปีนะห์ แมงสาโมง
 
เรื่องและภาพ  :  ถนอม  ขุนเพ็ชร์
 
“สาปีนะห์ แมงสาโมง” ตัดสินใจกลับจากกรุงเทพฯ มาอยู่บ้านเกิดที่ ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส พื้นที่สุดเขตชายแดนห่างไกล และยังอบอวลด้วยบรรยากาศเหตุการณ์ความไม่สงบที่ดำเนินมาต่อเนื่องยาวนาน
 
สาปีนะห์ มีความรู้ด้านสมุนไพร เพราะเคยทำงานวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลอภัยภูเบศรที่กรุงเทพฯ และเรียนปริญญาโททางด้านไทยคดี การกลับมาอยู่ถิ่นเกิดเพราะต้องการดูแลพ่อ ที่บ้านเกิด เธอเป็นผู้นำในการพัฒนามาแล้วระยะหนึ่ง
 
ล่าสุด ทำ “โครงการธนาคารต้นไม้เพื่อการอนุรักษ์พืชสมุนไพรพื้นบ้าน” สาขาชุมชนวังกระบือ ต.โละจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส โดยรับการสนับสนุนจาก “โครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่” สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
 
“เราอยากให้ชาวบ้านใช้ความรู้เป็นประโยชน์ต่อเขาเอง ที่ผ่านมา นักวิชาการทำเรื่องแบบนี้ก็จะทำมาเป็นเล่ม แต่เราคิดว่าต้องคืนกลับสู่ชุมชนให้มากที่สุด อยากให้ชาวบ้านกลับไปใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเขา หมู่บ้านแห่งนี้เป็นพื้นที่ห่างไกล การเข้าถึงหมอลำบาก ก็ต้องพึ่งตนเองก่อน การให้ความรู้เป็นเกราะให้แก่ชุมชนชาวบ้าน ให้เขาเข้มแข็งด้วยตัวเขา”
 
สาปีนะห์ ใช้กิจกรรมจัดทำชุดความรู้ โดยแกนนำวานีตา (แม่บ้าน) ชุมชนวังกระบือ และสภาชุมชนคนรักต้นไม้วังกระบือ ช่วยกันเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้สมุนไพรพื้นบ้าน เพื่อถ่ายทอดไปสู่โรงเรียน เพื่อให้เยาวชน และเด็กในโรงเรียนของพื้นที่วังกระบือให้เรียนรู้พืชสมุนไพร
 
ส่งผลให้พบว่า มีพืชท้องถิ่น 50 ชนิดน่าสนใจ แบ่งเป็นพืชผักพื้นบ้าน 24 ชนิด และพืชสมุนไพร 26 ชนิด เรียกชื่อด้วยภาษามลายูท้องถิ่น บางชนิดเป็นพืชที่พบเฉพาะที่นี่ สรรพคุณมีความหลากหลายตามแต่การหยิบไปใช้แต่ละครัวเรือน อย่างพืชผักกินได้ เช่น ซาเมาะปือดะห์ กูเล็งอากา จอแบ ส่วนพืชสมุนไพร ได้แก่ กะจิตีเมาะ หะยีสาเมาะ ซูซงอาแยฮุแต เป็นต้น
 

 
สาปีนะห์ เล่าว่า อัตลักษณ์ของท้องถิ่นแห่งนี้น่าสนใจคือ มีวิธีการดูแลสุขภาพหลังคลอด สมัยโบราณใช้สมุนไพรมาดื่ม และประคบ โดยช่วง 40 วันหลังคลอดมีการนั่งถ่านตูกู (ประคบด้วยหิน) นำหินที่เผาไฟมาแช่น้ำดื่มเพื่อให้หน้าท้องแบนเรียบ และบำรุงมดลูก พืชสมุนไพรหลังคลอดที่สำคัญ ได้แก่ บันตึงบือแน อีซีกือมอแย ขมิ้น จูโว๊ะ (ประคบ) ต้นกาโปบาโร๊ะ ยามาโรฮางุห์ เป็นต้น
 
“สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ วิถีการใช้สมุนไพรของที่นี่มีความเฉพาะถิ่นหลายประการ อย่างการถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก และทดลองใช้เอง ซึ่งวิธีใช้ต้องได้ผล และสอดคล้องในระดับปัจเจก ขณะที่ในด้านการมาทำอาหารมีการเอาใบไม้หลายชนิดมาคั้นน้ำเพื่อทำเป็นขนม การทำข้าวยำที่เป็นสูตรดั้งเดิม ต่างจากที่พบที่อื่น”
 
เธอเล่าว่า ต้นไม้ที่เกี่ยวกับสมุนไพรที่นี่มีเยอะที่สุดในพื้นที่แถบนี้ สมุนไพรเฉพาะถิ่นก็มีนีเล็ง ซาเมาะซือแด ซาเมาะซือยา อาจจะมากกว่าที่อื่น คนที่อื่นมาหาที่นี่ แม้ว่าเป็นผืนป่าเดียวกัน แต่ที่นี่เป็นแหล่ง และคนเฒ่าคนแก่ที่นี่รู้จัก มีคนที่อื่นมาเอาความรู้จากที่นี่ไป แสดงว่าคนที่นี่มีภูมิปัญญามากกว่า
 
“ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางครัวเรือนปลูกพืชกินได้ และสมุนไพรไว้ใช้เองอยู่แล้ว โดยชุมชนวังกระบือไม่ได้มีหมอพื้นบ้าน แต่ใช้วิธีถ่ายทอดภูมิปัญญาสมุนไพรกันแบบปากต่อปากของชาวบ้าน ต้นไม้ใบหญ้าที่หาได้ในท้องถิ่น เอามาใช้รักษาโรค พิสูจน์ด้วยตนเอง แล้วขยายวงกว้างออกไป”
 
เมื่อมีการจัดทำแผนที่ทำมือชุมชนคนรักต้นไม้ สำรวจเส้นทางเข้าหมู่บ้านของชุมชนวังกระบือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ม.7 ต.โละจูด จำนวน 30 หลังคาเรือนที่ติดกับป่า พบสมุนไพรรอบบ้าน 25 ชนิด ไม้กินได้ เช่น ต้นสาเม๊าะ ผักหวานช้าง พองนีเล็ง ญากง ต้นจอแบ ต้นตด ขณะที่พบพืชสมุนไพรที่หายาก เช่น ต้นหะยีสามะ ต้นกะจิตีเมาะ ต้นซูซงอาแยฮูแต ต้นปลาไหลเผือก ต้นกุเล็งอากา
 
“ชุมชนรอบป่าบ้านวังกระบือมีผู้สืบทอดการใช้ชีวิตวิถีจากป่าอยู่มาก โดยเฉพาะการเก็บสมุนไพรเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว จึงน่าจะพัฒนาเป็นหมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์ในอนาคต” สาปีนะห์ เล่าและเสริมว่า
 
ด้านการจัดตั้งธนาคารต้นไม้ มีการรวบรวมต้นไม้เอาไว้ 2 ส่วน คือ ที่บ้านอาสาสมัคร และข้างศาลาชุมชนวังกระบือ ทางโครงการแนะนำให้สมาชิกธนาคารนำต้นไม้ปลูกเสริมในแปลงของตนเองเพื่อเพิ่มความหลากหลาย มีผู้สนใจปลูกเพิ่มโดยได้รับพันธุ์ไม้ 600 ต้น จาก 38 ครัวเรือน
 
เธอมองว่า อนาคตชุมชนสามารถพัฒนาเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ถ้าชาวบ้านเข้มแข็ง และมีความรู้ มองเห็นภูมิปัญญาที่มีอยู่เป็นสิ่งที่มีค่า เอาไปใช้ได้จริง ภูมิปัญญาชุมชนจะไม่หาย เพราะคนเอาเงินมาล่อก็ไม่ได้ ในอนาคตเมื่อเขาพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยว ทุกบ้านก็ต้องสะอาด มาพัฒนาร่วมกันเพื่อดึงดูดคนมาเที่ยว ชุมชนจะเข้มแข็งในการรวมตัว มีการจัดการ เมื่อไปตามแนวทางนั้น อย่างน้อยถ้าป่าที่นี่ยังอยู่ คนที่นี่จะได้ประโยชน์ แต่ถ้าป่าถูกทำลาย เขาจะเสียหาย ถ้าชาวบ้านสามารถรักษาป่า จะได้ประโยชน์ต่อเขา และชุมชน
 
“ส่วนสำคัญคือ การเอาความรู้มาสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ ถ้าเราไม่มาทำโครงการ สสส.ตรงนี้ มันก็ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไกลมาก การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็ลำบาก” เธอเล่า
 

 
ขณะที่ นิมลต์ หะยีนิมะ พี่เลี้ยงโครงการกล่าวว่า ในโครงการนี้มองไปที่ต้นทุนเดิมที่เอาสมุนไพรในป่าออกมาใช้ แต่บางตัวหายไป เนื่องจากไม่มีการอนุรักษ์ หรือแม้แต่การมาจดบันทึกเพื่อการเรียนรู้จากสมุนไพรเดิมที่มีอยู่นับร้อยๆ ชนิด
 
“จะทำอย่างไรที่จะทำสมุนไพรที่มีอยู่ให้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หายไปจากพื้นที่ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่รู้จัก ก็เลยเกิดกระบวนการว่า สร้างธนาคารต้นไม้ เพื่อทีจะส่งเสริมเรื่องป่า เรื่องพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรค และนำมาเป็นอาหารได้ จะสร้างเป็นแหล่งหมู่บ้านที่รักษาพืชสมุนไพร”
 
นิมลต์ กล่าวว่า มีการทำแผนที่ทางเดินว่ามีกลุ่มสมุนไพรอะไรบ้าง และเก็บเป็นฐานความรู้พืชสมุนไพรที่กินได้ มีสรรพคุณอะไร โดยให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้เรื่องยา และใช้ในชีวิตประจำวันของตัวเอง เอามาเล่าเรื่อง บอกต่อให้แก่คนรุ่นใหม่ แต่พอเล่าเรื่อง ตรวจสอบดูแล้วก็พบว่า คนรุ่นใหม่ราว 40% ไม่รู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งถ้าไม่มีการถ่ายทอดต่อมันก็จะหายไป โครงการจึงเป็นต่อยอดมรดกชุมชนที่มีอยู่ดั้งเดิมสู่คนรุ่นใหม่
 
“วิถีเดิมที่พึ่งผักสมุนไพรรักษาโรคก่อนถึงมือหมอ วิถีใหม่ถูกกำหนดโดยวิทยาศาสตร์หมด ตรงนี้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และเกิดเป็นหมู่บ้านที่ปลูกสมุนไพรกินได้ มี 20 ตัวอย่างกลุ่มบ้านระดับแนวหน้าที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนได้ในอนาคต” นิมลต์ เล่าและมองว่า สามารถต่อยอดสร้างพื้นที่เพื่อสร้างรายได้จากมรดกภูมิปัญญาพื้นที่ เพราะกระบวนการตรงนี้ต่อยอดมาเป็นธนาคารต้นไม้ โดยการประสานกับโครงการพิกุลทองในพระราชดำริให้มาช่วยด้วย
 
สมพงษ์ รักษาศรี เจ้าหน้าที่สถานีทดลองปลูกพรรณไม้ โครงการพิกุลทอง ที่เข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ เล่าว่า บทบาทของโครงการพิกุลทองที่เข้ามาช่วยเรื่องนี้คือ ให้ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ ซึ่งพบว่าการเรียกชื่อเป็นทางการ หรือภาษาท้องถิ่นที่ต่างกัน การลงพื้นที่ทำให้พบว่า ลักษณะของหมู่บ้านวังกระบือเป็นหมู่บ้านที่มีพืชสมุนไพรขึ้นเป็นธรรมชาติ ชาวบ้านมีการเก็บพืชผักพื้นบ้านเหล่านี้มาเป็นอาหาร และยา
 
“แต่ความรู้เหล่านี้ไม่ได้รับการสืบทอดโดยการจดบันทึก รวมถึงการเล่าต่อสู่เยาวชนด้วย จึงเป็นที่น่าเสียดาย จึงแนะนำให้ทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติในพื้นที่ ปรับปรุงสิ่งที่มีตามธรรมชาติ แล้วมาจัดระบบข้อมูลสื่อความหมายให้น่าสนใจมากขึ้น” สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น