xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ ๒ “เดรัจฉานบนฐานดอกบัว” เกลื่อนเมือง! คนนครศรีธรรมราชแห่งเมืองนักปราชญ์ว่าไง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...กฤษณะ  ทิวัตถ์สิริกุล
 
 
ได้ผลจริงๆ กับพวกอ่านไม่จบความในตอนแรกที่จั่วหัวไว้ว่า “เดรัจฉานบนฐานดอกบัว” มีการพูดถึงเรื่องนี้กันพอควร ทั้งเสียงก่นด่า และเสียงชื่นชม ส่วนในแวดวงนักเลงคีย์บอร์ด นักรบออนไลน์ หรือบรรดาปราชญ์คีย์บอร์ดผู้รู้ไปเสียทุกเรื่อง แม้ว่าจะอ่านไม่เคยจบเรื่อง แวดวงนี้ดูท่าจะสนุกสนานกว่าใครเพื่อน
 
ส่วนผู้เขียนเองพร้อมน้อมรับทุกคำวิจารณ์!!
 
หลังจากตอนแรกผ่านไป ผู้เขียนได้ทั้งดอก ไม้และก้อนอิฐ ซึ่งพอแบ่งประเภทได้ว่า เจ้าของดอกไม้จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในแวดวงของการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และกลุ่มผู้ที่สนใจในความเป็นมา รากเหง้าของวัฒนธรรมนครศรีธรรมราช
 
ส่วนเจ้าของก้อนอิฐส่วนใหญ่จะเป็นนักเกรียนคีย์บอร์ด ประเภทอ่านไม่จบ แล้วแสดงตนเป็นผู้รู้ แสดงความคิดเห็นแบบหลงเข้ารกเข้าพงไปมีมากพอควร บ้างก็แสดงความเห็นมาแบบบอกตรงๆ ว่า ผมอ่านไม่จบ หรือว่าไปถึงขั้นศรัทธาต่อรูปนักษัตร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกันเลย และโกรธขึ้งกับคำว่าเดรัจฉาน บ้างก็ยาวเลยไปออกถึงเรื่องน้ำประปาของเทศบาล หรือเข้าป่าไปออกเรื่องการเมือง
 
จึงมีตอนที่ ๒ จึงตามมา และเฉลยที่มากันแบบไม่ต้องซ่อนนัยให้ตีความกันอีก?!
 
ประเด็นที่พูดถึงรากเหง้าของวัฒนธรรม ทั้งพราหมณ์ และพุทธที่มีความสัมพันธ์กับ “บัว” ที่นำมาเป็นศิลปะเชิงวัฒนธรรมประเพณี ใช้เป็นฐานสำหรับรูปเคารพทางศาสนาพุทธ โดยเฉพาะเกี่ยวเนื่องกับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ที่ชาวโลกนับถือ และบัวถือเป็นเครื่องสูงที่รากเหง้าวัฒนธรรมของคนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ให้ความสำคัญ และมีแบบแผนในการใช้ฐานบัวกับรูปเคารพมาอย่างยาวนาน
 
ผมู้เขียนไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนเลย มารู้เอาเมื่อพยายามศึกษาเรียนรู้ว่าที่ไปที่มานั้นเป็นอย่างไร และมาถึงยุคปัจจุบันพอจะใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความยาวของรากเหง้าทางวัฒนธรรมได้ดีทีเดียว พอที่จะไม่ให้ใครตราหน้าเอาได้ว่าเป็นพวกรากขาด มีของดีอยู่ในบ้านเมือง แต่ไม่รู้ที่ไปที่มา
 
“เดรัจฉานบนฐานดอกบัว” หลายคนเป็นฟืนเป็นไฟ แสดงตนเป็นผู้รู้ว่า เดรัจฉาน เป็นศัพท์ต่ำ ไม่ควรใช้กับสัตว์สัญลักษณ์ทั้ง ๑๒ นักษัตร ที่เป็นตัวแทนของทั้งรอบนักษัตรปีเกิดทั้ง ๑๒ ปีใน ๑ วงรอบ บ้างก็ว่าผู้เขียนเป็นเดรัจฉานตัวที่ ๑๓ ไปนั่น
 
ผู้เขียนได้แค่นั่งอมยิ้ม!!
 
น้อยคนที่จะฉุกคิด หรือตั้งคำถาม “เดรัจฉาน” มีที่มาอย่างไร เราทุกคนเป็นเดรัจฉานกันทั้งนั้น ด้วยคำจำกัดความง่ายๆ สั้นๆ คือ “ผู้ที่ไปโดยส่วนขวาง หรือมีร่างกายขนานไปกับพื้นโลก” เวลาเรานอนนั่นประไร แต่เดรัจฉานตามบทบัญญัติในพระไตรปิฎกขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ระบุไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งจำแนกไว้อย่างนี้
 
“เดรัจฉาน” มาจากภาษาบาลี “ติรจฺฉาน” แปลว่า ผู้ไปโดยส่วนขวาง (มีร่างกายขนานไปกับพื้นโลก) หรือผู้ไปขวางจากมรรคผล (บรรลุนิพพานไม่ได้) โดยมี ๔ จำพวก ได้แก่ “อปทติรัจฉาน” สัตว์ที่ไม่มีขา และไม่มีเท้า เช่น งู ไส้เดือน “ทวิปทติรัจฉาน” สัตว์ที่มี ๒ ขา เช่น ไก่ นก “จตุปทติรัจฉาน” สัตว์ที่มี ๔ ขา เช่น ช้าง ม้า วัว และ “พหุปทติรัจฉาน” สัตว์ที่มีมากกว่า ๔ ขา เช่น แมงมุม ตะขาบ
 
พระไตรปิฎกจำแนกไว้แบบนี้ แต่มีเงื่อนไขว่า เดรัจฉาน หรือติรัจฉานจะมีสัญญา ๔ อย่าง ได้แก่ “กามสัญญา” รู้จักเสพกาม “โคจรสัญญา” รู้จักกินและนอน “มรณสัญญา” รู้จักกลัวตาย และที่สำคัญที่สุดที่จะก้าวข้ามสังสารวัฏได้หากเป็น “เดรัจฉานชั้นสูง” เช่น เดรัจฉานที่เป็นพระโพธิสัตว์จะมีธัมมสัญญา คือ ความรู้จักผิดชอบชั่วดี จึงรู้จักการทำความดี และบำเพ็ญสั่งสมบารมีได้ เราจะเลือกอยู่ในกลุ่มไหน (อ้างอิง ๑.๐๑.๑๑.๒ พระสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ 5 เล่ม 1 วีถิมุตตสังคหะ ภูมิจตุกกะและปฏิสนธิจตุกกะ, พิมพ์ครั้งที่ ๖, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, ๒๕๔๖, หน้า ๔๘-๕๐)
 
ส่วนภาพที่นำมาใช้ประกอบ มีผู้ที่รู้เท่าทันว่า แสดงถึงนัยอะไรบ้าง มีเสียงชื่นชมปนตำหนิว่า “อย่าสื่อสารให้ลึกมากนัก เพราะจะมีคนตีความแบบไม่รู้จริง และไม่เท่าทันกับสิ่งที่เราสื่อ” เห็นจะจริงกับคำตำหนินี้ แต่ก่อนจะบอกถึงนัยนั้น บ้างว่าเป็นภาพไม่เหมาะสม เอาเสาที่มีวัวไปเทียบกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ หรือการถ่ายภาพแบบเสยให้ดูเหมือนว่าเสามีความสูงใกล้เคียงกับยอดพระธาตุ ทั้งๆ ที่เสาต้นนี้ถูกสมมติเป็นนักษัตรปีวัว ตั้งอยู่ตรงนั้นทุกวัน นับตั้งแต่ติดตั้งมากว่าปี ทุกคนมองเห็น
 
แต่นัยจริงๆ ของภาพนี้ โน่นเลยครับ ปลียอดทองคำขององค์พระบรมธาตุเจดีย์มีเครื่องสูงบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตรงนั้น มีฐานทองคำที่เป็น “ฐานบัวคว่ำบัวหงาย” และหลายคนยังเชื่ออีกว่า มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่บนปลียอดสูงสุด นั่นก็แล้วต่อข้อยุติทางโบราณคดี อย่าเถียงกันอีกนะครับว่าสนิมไม่สนิม นั่นมันอีกเรื่อง แต่นี่คือแบบแผนที่บรรพบุรุษของเราในอดีตกาลที่ได้ผ่านการเรียนรู้แบบรุ่นต่อรุ่น ไม่ต้องผ่านสถาบันไหนๆ เป็นผู้ชำนาญการกว่าวิศวกรยุคปัจจุบันหลายเท่า ที่มีทั้งศาสตร์ และศิลป์สืบรากเหง้ากันมาอย่างยาวเป็นผู้รังสรรค์ไว้
 
ส่วนเบื้องหน้าที่เทียบเคียงให้เห็นกับเสาวัวที่มี “ฐานบัวคว่ำบัวหงาย” รองรับอยู่ ซึ่งมีแบบมีแผน หรือมีรากเหง้าทางวัฒนธรรม ล้วนสอดใส่ปริศนาธรรมไว้ทั้งสิ้น เป็นภูมิปัญญาของปราชญ์โบราณกับนักออกแบบยุคปัจจุบันที่เอาวัวมายืนสองขาบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย หรือสัตว์ที่เรียกว่านักษัตรชนิดอื่นๆ ตลอดทั้งถนนราชดำเนิน
 
คือไม่ทราบที่มา และหลักคิดจริงๆ ครับ??
 
ไม่เถียงว่าสวยหรือไม่สวย แต่วัตถุอันเจริญตาที่อยู่หน้าโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองมันเหมาะควรจะเป็นแบบนี้หรือไม่ สุดแท้แต่ชาวเมืองนครศรีธรรมราชเถิดครับ ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน
 
ชาวนครศรีธรรมราชทุกคนรู้สึกเช่นเดียวกันว่า เราอยู่ในเมืองที่มีองค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นจุดศูนย์กลางของพุทธศาสนาในหัวเมืองย่านนี้ตั้งแต่อดีต และต่างห่วงแหนเป็นเจ้าของ แต่หลายคนไม่เคยรู้ว่าองค์พระบรมธาตุตั้งแต่ฐานองค์เจดีย์ไปจนถึงจุดสูงสุด ได้ซ่อนปริศนาทางพุทธศาสนาอันใดไว้บ้าง อันนี้ตั้งคำถามทิ้งไว้
 
เรารู้สึกคุ้นชินกับสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้า และเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เราเชื่อศรัทธาสืบต่อกันมา ผู้เขียนกำลังสงสัยตัวเองว่า คนรุ่นเรากำลังขาดถึงการค้นหาสืบสาวถึงที่มา ความสวยงามจากอดีตผ่านการสืบทอดมาได้จนถึงปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้ผ่านมาได้อย่างไร มีรากเหง้ามาจากไหน มีความหมายอย่างไร เรากำลังเป็นไม้ที่เติบใหญ่แบบกิ่งชำตอนหรือไม่ หรือกำลังขาดรากแก้วใช่ไหม
 
เรื่องนี้แล้วแต่บุคคลจะตรองดู ส่วนผู้เขียนกำลังคิดแบบนั้น?!?!
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น