ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) ร่วมกับ 4 สมาคมด้านการท่องเที่ยว และอสังหาฯ ในภูเก็ต เปิดตัวโครงการอบรมผู้พัฒนาดิจิตอล คอนเทนต์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ประจำปี 2558
เมื่อเวลา 10.00. น. วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ห้องดาราเธียร์เตอร์ โรงแรมนิวดาราบูติก เรสซิเดนซ์ ต.วิชิต อ.เมือง จ. ภูเก็ต สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต และสมาคมสปา จังหวัดภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการอบรมผู้พัฒนาดิจิตอลคอนเทนต์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ ประจำปี 2558 โดยมี นายกฤษฎา ตันสกุล นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ นายภูมิกิต รักแต่งาม อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต แขกผู้มีเกียรติ ตลอดจนนักพัฒนาดิจิตอลคอนเทนต์ สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ร่วมรับฟังการแถลงข่าว
นายประชา อัศวธีระ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ สาขาภูเก็ต กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า SIPA ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำดิจิตอล คอนเทนต์มาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต รวมถึงเป็นการสอดรับต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล จึงได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการตลาด และการเจรจาธุรกิจดิจิตอล คอนเทนต์ภาคใต้ขึ้น โดยโครงการจะประกอบไปด้วยกิจกรรม 3 ส่วนสำคัญคือ การอบรมเตรียมความพร้อมให้นักพัฒนาดิจิตอล คอนเทนต์ การประกวดชิ้นงานดิจิตอล คอนเทนต์ และการสัมมนาเศรษฐกิจดิจิตอล ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมจะมีสิทธิส่งชิ้นงานเข้าประกวดเพื่อชิงเงินรางวัลกว่า 450,000 บาท โดยชิ้นงานที่ผ่านการคัดเลือกจะมอบให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตต่อไป
นอกจากนี้ นายประชา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของกลุ่มดิจิตอล คอนเทนต์ ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.กลุ่มแอนนิเมชัน แอนด์ มัลติมีเดี่ย 2.อีบุ๊ก ซึ่งทำจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 3.ในเรื่องของเกม การทำให้ออกมาสวยงามเราทำได้ดี แต่ที่ยังขาดคือ การวางเรื่องราวให้น่าสนใจ และ 4.นิวมีเดีย ซึ่งเป็นแอนนิเมชันผสมกับเรื่องจริง เป็นกลุ่มที่กำลังเติบโต เพราะว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะเข้าไปพัฒนาบุคลากรตั้งแจ่เด็ก จนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมต่อยอดเรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้กันต่อไป
ขณะที่ นายสถิรพงศ์ ณ ตะกั่วทุ่ง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย บางแห่งเ้ป็นสินค้าด้านการท่องเที่ยวแบบเดียวกับที่ภูเก็ตเรานำเสนอ คือ ชายหาด ธรรมชาติ และการบริการที่น่าประทับใจ เงื่อนไขสำคัญในการสร้างการรับรู้ของนักท่องเที่ยวถึงแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะภูเก็ต จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกสำคัญ โดยเฉพาะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทุกอย่างสามารถเปิดอ่าน และค้นหาได้จากมือถือ เป็นนวัตกรรมสำคัญที่ทำให้ข้อมูลสามารถปรากฏต่อกลุ่มเป้าหมายของภูเก็ตได้ในทุกที่ และทุกเวลา
ด้าน นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร กรรมการสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ ได้กล่าวสนับสนุนโครงการฯ ดังกล่าวว่า ที่ผ่านมา มีปัญหาที่นักพัฒนาดิจิตอล คอนเทนต์ขาดความเข้าใจพื้นฐานของธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งทำให้รูปลักษณ์ หรือสไตล์ในการนำเสนอข้อมูลไม่ตรงต่อกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยว การเตรียมความพร้อมนักพัฒนาดิจิตอล คอนเทนต์ จึงเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม และหวังว่าเมื่อคอนเทนต์ได้รับการพัฒนาแล้ว ทางสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ จะสามารถมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ด้านดิจิตอลในโครงนี้
ส่วนทางด้าน นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตนั้น ตลาดบนซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงเป็นตลาดที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีในการนำเสนอ โดยเฉพาะดิจิตอล คอนเทนต์สูงมาก เพราะต้องเข้าใจว่าลูกค้าจำนวนมากมีถิ่นอาศัยอยู่ต่างประเทศ และมีตารางการทำงานที่รัดตัว การนำเสนอผ่านเทคโนโลยีจึงเป็นตัวสนับสนุนในการตัดสินใจได้อย่างมาก หลายโครงการได้ลงทุนในการสร้างเครื่องมือในการขายให้ทันสมัย และนำเสนอภาพเสมือนจริงให้ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อโครงการนี้ แต่ในการทำงานของดิจิตอล คอนเทนต์อยากให้ใส่ในเรื่องของโลเกชันเข้าไปด้วย นอกจากเรื่องของความตื่นเต้นแล้ว อยากให้เสนอทุกมุมมอง อย่าไปเน้นเฉพาะส่วนที่ดีที่สุด หรือมากที่สุด เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ในการทำงานอย่างแน่นอน
นายรังสิมันต์ กิ่งแก้ว นายกสมาคมสปาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตในการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว และส่วนใหญ่มีโทรศัพท์มือถือที่เรียกว่า Smart device ติดตัวในการเดินทาง สิ่งที่จำเป็นมากในการสร้างการรับรู้ของแหล่งท่องเที่ยวคือ ภาพตัวอักษร และเสียงที่เร้าให้เกิดความอยากรู้ อยากเห็น อยากสัมผัส และน่าค้นหา อาจจะกล่าวได้ว่าดิจิตอล สร้างแรงจูงใจในการท่องเที่ยวได้ดีกว่าแผนที่ และไกด์บุ๊กธรรมดาๆ ทั้งนี้ จากสถิติพบว่า นักท่องเที่ยว 87 คนใน 100 คน เลือกใช้อินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งในการวางแผน ค้นหาข้อมูล และเตรียมเดินทาง และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ นายรังสิมันต์ กล่าว
สำหรับโครงการส่งเสริมการตลาด และการเจรจาธุรกิจดิจิตอล คอนเทนต์ภาคใต้ เปิดรับสมัครนักพัฒนาดิจิตอล คอนเทนต์ทั่วประเทศในการเข้ารับการอบรมเตรียมความพร้อมด้านธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในธุรกิจท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดจัดอบรม 3 วัน ในวันที่ 3-5 มิถุนายน 2558 ผู้สนใจสมัครได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (องค์การมหาชน) สาขาภูเก็ต ชั้น 1 ตึกหลังศูนย์บริการลูกค้า ทีโอที สาขาภูเก็ต ถนนพังงา ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต จว.ภูเก็ต หมายเลขโทรศัพท์ 0-7637-9111 ต่อ 215