xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป้อม” ควง “บิ๊กโด่ง” เยี่ยมศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดชายแดนภาคใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ลงพื้นที่ จ.ยะลา เยี่ยมโครงการศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดงบ 17 ล้านหนุนฝึกอาชีพเยาวชน และผู้ด้อยโอกาส พัฒนาศักยภาพแรงงานรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

วันนี้ (19 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดยะลา ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.พล.อ.สุรเชษฐ์ รมช.ศึกษาฯ พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมคณะเยี่ยมโครงการศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดยะลา โดยมี นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการ ศอ.บต.นายสามารถ วรดิศัย ผวจ.ยะลา มีนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวรายงาน ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดยะลา และข้าราชการ กลุ่มสตรี ให้การต้อนรับ

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้รายงานว่า ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดยะลา ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 จังหวัดยะลา ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เพื่อรองรับเด็กด้อยโอกาส เด็กกำพร้า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้รับบริการทางการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง เป็นโรงเรียนประเภทศึกษาสงเคราะห์ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รับนักเรียนสหศึกษา

โดยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมป์ ได้ให้ความอนุเคราะห์รับเข้าโครงการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และได้เปิดการเรียนการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2551 ปัจจุบัน มีนักเรียนทั้งหมด 468 คน มีข้าราชการครู 20 คน ครูอัตราจ้าง 34 คน ลูกจ้างเหมาบริการ 9 คน พี้เลี้ยงเด็กพิการ 5 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 1 คน วิทยากรสอนอิสลามศึกษา 4 คน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 3 คน

นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา รายงานว่า ความเป็นมาของโครงการรัฐสภา ร่วมกับกองทัพบก จัดทำโครงการก่อสร้างอาคารโรงฝึกอาชีพให้แก่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 41 (จังหวัดยะลา) เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน และตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “รู้รักสามัคคี” “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินการ ซึ่งจะส่งผลให้ราษฎร และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่ประสบต่อสาธารณภัย ได้มีอาคารโรงฝึกอาชีพ และร่วมพัฒนาชุมชน ทำให้สังคมมีความสมานฉันท์ และความสงบสุข

โดยมอบหมายให้กองทัพบกเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้อาคารโรงฝึกอาชีพ และอาคารโรงนอนได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเพื่อให้อาคารดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ตลอดจนจังหวัดยะลา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายการครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ฝึกอาชีพจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานจังหวัดยะลา วงเงินงบประมาณ 17,633,450 บาท เพื่อดำเนินการฝึกอาชีพให้แก่เยาวชน และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ และฐานะยากจน

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ กลุ่มบุคคลผู้ผ่านการฝึกอบรมจากโรงเรียนสันติสุขโครงการพาคนกลับบ้าน ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาที่ประสบต่อสาธารณภัยให้สามารถประกอบอาชีพได้ เพื่อเพิ่มช่องทางการฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเพื่อเตรียมความพร้อมของแรงงานในพื้นที่ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับการฝึกอาชีพในรุ่นแรกนี้ ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มบุคคลจากโครงการพาคนกลับบ้านของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า

ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 12 สงขลา ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดยะลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดยะลาเป็นหน่วยจัดทำหลักสูตรการฝึกวิชาชีพ การฝึกอาชีพครั้งนี้ทุกคนจะได้รับการฝึกทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ เป็นระยะเวลา 4 เดือน หรือ 460 ชั่วโมง และฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการอีก 2 เดือน ในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน ซึ่งผู้ที่สำเร็จการฝึกจะได้รับวุฒิบัตรพัฒนาฝีมือแรงงาน

สาขาที่สำเร็จการฝึก ประกอบด้วย จำนวน 3 สาขาอาชีพ ได้แก่ ช่างไฟฟ้า มีเข้ารับเข้าฝึกอาชีพ จำนวน 25 คน ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ มีเข้ารับเข้าฝึกอาชีพ จำนวน 25 คน ช่างก่อสร้าง มีเข้ารับเข้าฝึกอาชีพ จำนวน 25 คน หลังเลิกเรียนของแต่ละวันจะมีตารางกิจกรรมพบปะในห้วงเวลา 19.00-20.30 น. ของวันอังคาร และวันพฤหัสบดี โดยเชิญกลุ่มดาอีมาบรรยายธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจผู้เข้าฝึก และในวันศุกร์ จะจัดรถรับ-ส่งเพื่อเดินทางไปร่วมละหมาด สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ มีการปล่อยกลับบ้าน แต่จะไม่ให้กลับทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการมีวินัยของผู้เข้ารับการฝึก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น