xs
xsm
sm
md
lg

วัดบ่อทรัพย์ “อนุรักษ์ต้นซาหวา” เก่าแก่อายุ 70 ปี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สุดทึ่ง วัดบ่อทรัพย์หนึ่งในวัดเก่าแก่ของ จ.สงขลา ทั่วทั้งวัดเต็มไปด้วยต้นละมุด หรือต้นซาหวานับร้อยต้นที่อยู่คู่กับวัดมาอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 70 ปี และทุกต้นยังออกลูกดกเต็มต้น และกลายเป็นหนึ่งในคำขวัญประจำวัดในปัจจุบัน
   

วันนี้ (16 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดบ่อทรัพย์ ตั้งอยู่หมู่ 2 ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดเก่าแก่ของ จ.สงขลา สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2360 สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีสิ่งที่อยู่คู่กับวัดแห่งนี้มาอย่างยาวนาน และแตกต่างจากวัดอื่นๆ

นั่นคือ ต้นละมุด หรือที่ชาวใต้เรียกว่าต้นซาหวานับร้อยต้น ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ที่ทางวัดยังคงอนุรักษ์เอาไว้ และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวัดบ่อทรัพย์ในปัจจุบัน จนต้องนำไปเป็นส่วนหนึ่งในคำขวัญของวัดที่ว่า “ซาหวารสดี บารมีสามหลวงพ่อ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ท่านเจ้าเขา” และที่น่าทึ่งทุกต้นยังคงออกลูกดกต่อเนื่องตลอดทั้งปีไม่เคยขาด รสชาติดีแม้จะไม่เคยใส่ปุ๋ยเลยก็ตาม

 
พระบุญเนาว สิริปุณโญ อายุ 78 ปี เจ้าอาวาสวัดบ่อทรัพย์รูปปัจจุบัน เปิดเผยว่า ต้นซาหวา หรือต้นละมุด ของวัดบ่อทรัพย์ น่าจะปลูกมาตั้งแต่สมัยหลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ.2482-2488 และเป็นต้นไม้ที่อยู่คู่กับวัดมาอย่างยาวนาน ทั่วทั้งพื้นที่ของวัดไม่มีจุดไหนที่ไม่มีต้นละมุด ทั้งบริเวณโบสถ์ กุฏิ ศาลาการเปรียญ และหอระฆัง ลานจอดรถ และกลายเป็นร่มเงาให้แก่ผู้ที่เข้ามาทำบุญได้นั่งพักผ่อน และทุกต้นยังมีลูกดกมาก ซึ่งทางวัดจะให้แม่ค้ามาเหมาเก็บไปขายเป็นรายปีเพื่อนำรายได้บำรุงวัด และมีบ้างที่ญาติโยมและพระจะเก็บกินซึ่งก็ไม่ได้ว่าอะไร ส่วนต้นที่อยู่ติดริมเขาบรรดาลิงป่าก็ลงมาเก็บกินเป็นอาหาร ซึ่งทางวัดจะยังคงอนุรักษ์ต้นละมุดเก่าแก่ทั้งหมดตลอดไป จะไม่ตัด หรือทำลายเนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของวัดบ่อทรัพย์ไปแล้ว เนื่องจากให้ประโยชน์มากกว่าการที่จะปลูกต้นไม้อื่นๆ ที่ให้เฉพาะร่มเงา

 
สำหรับวัดบ่อทรัพย์แห่งนี้ นอกเหนือจากจะมีต้นซาหวา หรือต้นละมุดเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์แล้ว ยังมีชื่อเสียงในเรื่องของพระปิดตาวัดบ่อทรัพย์ หนึ่งในชุดพระปิดตาห้าเสือของ จ.สงขลา ที่ปลุกเสกโดยหลวงพ่อคง ซึ่งปัจจุบันยังมีกุฏิเก่าแก่ของหลวงพ่อคงอยู่ แต่เริ่มผุพังไปตามกาลเวลา รวมทั้งยังมีกุฏิไม้โบราณที่พระสงฆ์ยังใช้เป็นที่พักสงฆ์ รวมถึงบ่อน้ำพื้นเมืองขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าวัด เรียกว่า “บ่อซับ” เป็นบ่อน้ำที่ซึมซับลงมาจากภูเขาอันเป็นที่มาของชื่อ “วัดบ่อทรัพย์” และเป็นบ่อน้ำที่ไม่เคยเหือดแห้ง รวมถึงกำแพงวัดที่มีลักษณะ และรูปแบบเดียวกับกำแพงเมืองเก่าสงขลา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น