ตรัง - หลายพื้นที่ใน จ.ตรัง ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ล่าสุด 7 อำเภอถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้ง ประชาชนกว่า 30,000 ครัวเรือนเดือดร้อนขาดน้ำอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำดิบหลายแห่งใช้การไม่ได้ เหตุจากน้ำเค็มรุกพื้นที่น้ำจืด ขณะที่ธุรกิจรับขุดบ่อน้ำจืดรับทรัพย์อื้อ เผยมีรายได้เฉลี่ยวันละ 3,000 บาท
วันนี้ (16 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทศพร หอมตระกูล เจ้าของธุรกิจบ่อน้ำจืดรายใหญ่ในพื้นที่ ม.3 ต.บางเป้า อ.กันตัง จ.ตรัง มีรายได้จากการขายน้ำจืด ซึ่งได้จากการขุดสระน้ำ และเจาะบ่อบาดาลในที่ดินส่วนตัว ส่งขายให้แก่เจ้าของธุรกิจนากุ้ง ผู้รับเหมาก่อสร้างถนน สนามกีฬา และชุมชนชายฝั่งทะเลในอำเภอกันตัง รวมทั้งอำเภอใกล้เคียงรวม 6 อำเภอ
ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่น้ำจืด ทำให้แหล่งน้ำดิบไม่สามารถใช้การได้ ชาวบ้านจึงต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้มานานกว่า 1 เดือนแล้ว ทำให้เจ้าของธุรกิจบ่อน้ำจืดมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังขายในราคาเดิมคือ คิวละ 20 บาท หรือ 1,000 ลิตร โดยมีน้ำสำรองในบ่อวันละประมาณ 1,000,000 ลิตร และมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000-3,500 บาทต่อวัน ซึ่งหากสถานการณ์ภัยแล้งยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น บ่อน้ำจืดที่มีอยู่จำนวน 2 บ่อ จะต้องมีการขุดเพิ่ม
ล่าสุด จ.ตรัง ประกาศให้ 7 อำเภอ รวม 20 ตำบล หรือกว่า 30,000 หลังคาเรือนเป็นเขตภัยแล้งแล้ว ด้าน นายทศพร หอมตระกูล เจ้าของธุรกิจบ่อน้ำจืด อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ปีนี้ธุรกิจขายน้ำจืดดีขึ้นเพราะแล้งจัด ลูกค้ามีทั้งเจ้าของนากุ้ง และผู้รับเหมา โดยปลื้มใจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเขื่อนท่างิ้ว ในอำเภอห้วยยอด จ.ตรัง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับหลายอำเภอใน จ.ตรัง แต่ยังอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างเขื่อนกั้นระหว่างน้ำเค็มกับน้ำจืดในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เนื่องจากหลายอำเภอมีปัญหาเรื่องน้ำเค็มรุกน้ำจืด ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำได้