xs
xsm
sm
md
lg

จังหวัดสงขลาทำพิธีบวงสรวงเสาหลักเมืองครบ 173 ปี เสริมสิริมงคลเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเสาหลักเมืองสงขลาครบ 173 ปี โดยพิธีบวงสรวงเสาหลักเมืองสงขลา มีทั้งพิธีพราหมณ์ และพิธีสงฆ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เมืองให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ

วันนี้ (10 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถ.นางงาม อ.เมือง จ.สงขลา นายธำรงค์ เจริญกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเสาหลักเมืองสงขลาครบ 173 ปี โดยมี นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา คณะกรรมการสมาคมฮกเกี้ยนจังหวัดสงขลา และประชาชนเข้าร่วมในพิธีบวงสรวงฯ ในครั้งนี้อย่างคับคั่ง เนื่องจากเสาหลักเมืองสงขลา อยู่คู่บ้านคู่เมืองสงขลามายาวนานถึง 173 ปี โดยพิธีบวงสรวงเสาหลักเมืองสงขลาในวันนี้ มีทั้งพิธีพราหมณ์และพิธีสงฆ์
 

 
สำหรับความเป็นมาของเสาหลักเมืองสงขลา ในปี พ.ศ.2385 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) จัดการฝังหลักชัยเมืองสงขลา ทรงพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักชัยต้นหนึ่ง กับเทียนชัยเล่มหนึ่ง พร้อมด้วยเครื่องไทยทานต่างๆ และโปรดเกล้าฯ ให้พระอุดมปิฏก ออกไปเป็นประธานด้านพุทธพิธี พร้อมด้วยฐานานุกรมเปรียญ 8 รูป และโปรดเกล้าฯ ให้พระครูอัฏฏาจารย์พราหมณ์ ออกไปเป็นประธานฝ่ายพิธีพราหมณ์ 8 นาย
 

 
งานฝังหลักชัยเริ่มด้วยพระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) เจ้าเมืองสงขลา ได้เกณฑ์กรมการ และไพร่จัดการทำโรงพิธีใหญ่ขึ้นกลางเมืองสงขลา คือ หน้าศาลเจ้าหลักเมือง ถนนนางงาม อำเภอเมือง โดยตั้งโรงพิธี 4 ทิศ ในวันพิธีได้จัดขบวนแห่หลักไม้ชัยพฤกษ์ กับเทียนชัยเป็นขบวนใหญ่ มีทั้งพวกชาวจีน และชาวไทย เพื่อแห่ไปยังโรงพิธีพระสงฆ์ราชา คณะฐานานุกรมเจริญพระปริตร พร้อมกับพระครูสวดตามไสยเวท เมื่อได้เวลาอุดมฤกษ์ เดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล จัตวาศก จุลศักราช 1204 (พ.ศ.2385) เวลา 7 นาฬิกา 10 นาที ตรงกับวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2385 พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฏาจารย์ พราหมณ์ อัญเชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังที่ใจกลางเมืองสงขลา ซึ่งเรียกกันว่า “หลักเมือง” จนทุกวันนี้
 

 
ต่อมา พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) ได้ให้ช่างสร้างตึกคร่อมหลักเมืองไว้ 3 หลังเป็นตึกจีน และสร้างศาลเจ้าเสื้อเมืองอีกหนึ่งหลัง ครั้น พ.ศ.2460 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ อุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ได้มีลายพระหัตถ์แจ้งว่า หลักเมืองจังหวัดสงขลา ปลวกกัดชำรุด พ่อค้า และประชาชนจังหวัดสงขลา จะช่วยกันออกเงินทำเสาหลักเมืองด้วยซีเมนต์คอนกรีต เพื่อจะได้อยู่อย่างถาวร อุดมฤกษ์ในการวางเสาหลักเมือง ตรงกับวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2460 ตรงกับเดือน 4 แรม 4 ค่ำ เวลา 7 นาฬิกา 22 นาที 36 วินาที ก่อนเที่ยง 
 

 
โหร 4 คนถือก้อนดินยืนประจำทั้ง 4 ทิศ แล้ววางก้อนดินลงในหลุมหลักเมือง จากนั้นจึงเชิญเสาหลักลงหลุมแล้วกลบดินเป็นปฐมฤกษ์ จนถึงเวลา 8 นาฬิกา กับ 41 นาที 36 วินาที ก่อนเที่ยง ถือเป็นฤกษ์ดีที่สุด (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ,2460: ม. 12/19) เสาหลักเมืองนี้จึงอยู่คู่เมืองสงขลา และเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสงขลา ตราบจนทุกวันนี้ กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนศาลหลักเมืองเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2478 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มี.ค.2478
 

 
ภายในศาลหลักเมืองมีองค์เทพศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องรักษาเมืองให้พ้นภัยพิบัติต่างๆ และเป็นที่เคารพสักการะ มีองค์เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เสี่ยงฮ๋องเหล่าเอี๋ย เจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา พระเสื้อเมือง โบ้เชงไต่เต่ พระหมอรักษา ตี่ฮู่อ๋องเอี๋ย เทพเจ้ารักษาโรค และเฉ่งจุ้ยจ้อ พระหมอเทพรักษาโรคภัยของชาวสงขลา ในวันนี้ ที่ 10 มี.ค.2558 จึงเป็นวันครบรอบ 173 ปีของเสาหลักเมืองสงขลา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น