xs
xsm
sm
md
lg

อธิการบดี ม.สงขลานครินทร์ เผยเน้นพัฒนาบัณฑิตมีจิตอาสา มุ่งสู่ศูนย์กลางอาเซียนตอนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่า ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เน้นการผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้มีจิตอาสาพัฒนาชุมชน มุ่งงานวิจัยเชิงพื้นที่ต้อนรับอาเซียน โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนตอนใต้

วันนี้ (5 มี.ค) รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนในงานสานสัมพันธ์สื่อมวลชน ซึ่งงานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เพื่อนำเสนอผลงานการคิดค้น และหน่วยงานใหม่ของมหาวิทยาลัย รวมถึงแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ปี 2558 ภูมิภาคภาคใต้

ในโอกาสดังกล่าว อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้พูดถึงประเด็นสำคัญที่เป็นแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้มีการพัฒนาในหลายด้านรวมถึงความพยายามในการแก้ปัญหา

ในด้านการผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการปรับวิธีการสอนเป็นแบบ active learning หรือการให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนในชั้นเรียนมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็น ทำกิจกรรมการเรียนรู้ และตอบคำถามข้อสงสัย มีการพัฒนาบัณฑิตให้เป็นผู้มีจิตอาสาตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข มีการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเน้นการช่วยเหลือชุมชนโดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พยายามใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่เกิดจากองค์ความรู้ของนักวิชาการให้เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่มากขึ้น โดยเน้นงานวิจัยเชิงพื้นที่ เช่น การวิจัยพันธุ์ปาล์มที่สามารถให้ผลผลิตเทียบเท่ากับพันธุ์ปาล์มของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์เชิงสังคม และอุตสาหกรรม สนับสนุนให้มีการร่วมกันใช้องค์ความรู้ของแต่ละในการพัฒนาชุมชน เช่น การพัฒนาชุมชนปากรอ จังหวัดสงขลา และเกาะบุโหลน จังหวัดสตูล เป็นต้น

มหาวิทยาลัยได้มีการวางเป้าหมาย และได้ดำเนินการมาหลายปีในการเตรียมการเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียนตอนใต้ โดยได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาเพื่อไปเรียนในประเทศอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพื่อให้มีทักษะในการอยู่ในต่างประเทศ ได้เข้าใจวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ ของประเทศอื่น โดยสามารถโอนหน่วยกิตระหว่างกันได้

รวมทั้งสนับสนุนทุนให้นักศึกษาต่างชาติมาเรียนที่มหาวิทยาลัย เพื่อการเรียนรู้ภาษาวัฒนธรรมระหว่างกัน ทำให้มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ได้มีความพยายามในหลายรูปแบบเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่นักศึกษา เช่น การจัดหาโปรแกรมเรียนภาษาสำเร็จรูปให้นักศึกษาสามารถฝึกฝนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น