xs
xsm
sm
md
lg

จบด้วยดี! ร้องมัสยิดส่งเสียงดัง สำนักนายกฯ แจงร้องผ่านทางโทรศัพท์ โรงแรมไม่มีเอี่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จบด้วยดีกรณีที่มีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ทาง “มัสยิดอิซซ่าตุ้ลอิสลาม” บ้านอ่าวมะขาม หลังผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงไม่สามารถระบุชื่อคนร้องได้ เนื่องจากร้องผ่านทางโทรศัพท์ และไม่เกี่ยวข้องต่อโรงแรมแต่อย่างใด

จากกรณีที่ชาวบ้านอ่ามมะขาว ม.7 ต.วิชิต อ.เมือง จ. ภูเก็ต รวมตัวกันเรียกร้องขอความชัดเจนกรณีที่มีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า มัสยิดอิซซ่าตุ้ลอิสลาม บ้านอ่าวมะขาม ซึ่งมีจุดสังเกตอยู่บริเวณตรงข้ามกับโรงแรมแห่งหนึ่ง ได้ประกอบพิธีอาซานในช่วงเวลากลางคืน ทำให้ผู้ร้อง และประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากทางมัสยิดได้ใช้เครื่องขยายเสียงในการประกอบพิธีอาซาน ในช่วงเวลา 23.00-24.00 น.และเวลาประมาณ 05.00-06.00.น.เป็นประจำทุกวัน เป็นเวลา 1 เดือนมาแล้ว และผู้ร้องเรียนไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อแต่อย่างใด เมื่อได้รับหนังสือร้องเรียน ทางสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือมายังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา สภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ได้เชิญ นายณรงค์ คุ้มบ้าน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านอ่าวมะขาม ต.วิชิต และนางนวลจันทร์ สามารถ สมาชิกสภาอบจ.ภูเก็ต และผู้เกี่ยวข้องอีกหลายคนมาชี้แจงตามหนังสือร้องเรียนดังกล่าว และนายณรงค์ คุ้มบ้าน และตัวแทนหมู่บ้าน เห็นว่าข้อร้องเรียนดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะในเวลา 23.00-24.00 น.นั้น ไม่มีการประกอบพิธีอาซานแต่อย่างใด และได้รวมตัวกันเรียกร้องความยุติธรรม ความถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาความชัดเจนเกี่ยวกับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว และมีการเรียกร้องให้เจ้าของโรงแรมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอของการร้องเรียนมาชี้แจงต่อชาวบ้าน ในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น. และชาวบ้านพอใจได้สลายการชุมนุมไปในที่สุด

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (26 ก.พ.) ที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านอ่าวมะขาว ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต มีชาวมุสลิมประมาณ 300 คน ได้มารวมตัวกันเพื่อรอคำตอบ ความชัดเจนเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยมี นางอรวรรณ ขุมทรัพย์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีประจำเขตตรวจราชการที่ 7 นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รอง ผวจ.ภูเก็ต พล.ร.ต.เธียรศิริ มนต์ไตรเวศย์ รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ด.ต.โกมล ดุมลักษณ์ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดภูเก็ต พ.ต.อ.สมาน ชัยณรงค์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต นายภาคภูมิ อินทรสุวรรณ ปลัดจังหวัดภูเก็ต นายสุพจน์ ชนะกิจ นายอำเภอเมืองภูเก็ต นายณรงค์ คุ้มบ้าน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ต.วิชิต น.ส.นวลจันทร์ สามารถ สมาชิก อบจ.ภูเก็ต โต๊ะอิหม่ามในพื้นที่ตำบลวิชิต และตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุม

โดยชาวบ้านได้นำเต็นท์มากางไว้ที่ถนนหน้าโรงแรม และมีการติดตั้งจอทีวีเพื่อให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้ารับฟังในห้องประชุมได้ร่วมรับฟังอยู่ด้านหน้าโรงแรมด้วย นอกจากนั้น ยังมีการติดป้ายผ้าด้วยข้อความต่างๆ ไว้ที่เต็นท์ และศาลาริมทางใกล้โรงแรม นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน 2 กองร้อย ได้วางกำลังอยู่รอบๆ และภายในโรงแรม บรรยากาศทั่วไปเป็นไปอย่างความสงบเรียบร้อย ได้ข้อยุติเป็นอย่างดี

นางอรวรรณ ขุมทรัพย์ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีประจำเขตตรวจราชการที่ 7 กล่าวว่า ในการร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นการร้องเรียนทางโทรศัพท์ หมายเลข 1111 เมื่อมีการร้องเรียนผ่านโทรศัพท์ได้มอบหมายให้ทาง TOT เป็นผู้รับร้องเรียนทางโทรศัพท์ และจะถูกบันทึกอยู่ในระบบอย่างอัตโนมัติ หลังจากที่ระบบบันทึกอัตโนมัติทางระบบก็จะส่งมายังที่ศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ตทันที ส่วนที่พี่น้องประชาชนอยากทราบว่าผู้ร้องคือใครนั้น ในส่วนนี้ระบบไม่ได้ระบุชื่อเป็นใคร ผู้ร้องไม่ประสงค์ออกนาม และไม่เกี่ยวข้องต่อโรงแรม และที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร บางกรณีไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ ในส่วนเรื่องการตรวจสอบไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งให้ยุติเรื่องแล้ว และท่านปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบแล้ว ท่านก็ไดสั่งยุติเรื่อที่เกิดขึ้นแน่นอน

ด้าน นายณรงค์ คุ้มบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.วิชิต กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพี่น้องมุสลิมทั่วโลก ซึ่งทุกคนไม่อยากให้เกิดเรื่องความแตกแยกกันขึ้น บ้านอ่าวะขาม มีพี่น้องมุสลิมประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็อยู่ร่วมกับพี่น้องทุกศาสนาแบบมีความสุขมาโดยตลอด เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบลงมาทำความเข้าใจต่อชาวบ้านมาชี้แจ้งข้อเท็จจริง ว่าเรื่องเป็นมาเป็นไรอย่างไร ซึ่งชาวบ้านรอคำตอบอยู่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่า เป็นการร้องเรียนผ่านทางโทรศัพท์ ผู้ร้องไม่ระบุชื่อเสียงเรียงนาม ตรงนี้ชาวบ้านก็เข้าใจได้ แม้นว่าเป็นคำตอบที่ยังไม่เคลียร์เท่าที่ควร แต่ก็เคารพในคำตอบ

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นฝากไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า หากมีเรื่องการร้องเรียนเรื่องศาสนา อยากบอกว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนจริงๆ ไม่อยากให้นำขึ้นมาหาข้อสรุป หรือหาข้อยุติ อยากให้ตรวจสอบที่มาที่ไปให้ดีกว่าที่ผ่านมา เพราะประเด็นเรื่องของศาสนาอาจะเป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียวที่บานปลายไปกระทบวงกว้าบง อยากให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนต่อคณะทำงานศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียนของสำนักนายกรัฐมนตรี

“ประเด็นหนึ่งเป็นประเด็นทิ้งท้าย อยากให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด ทางผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต หยุดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ด.ต.ยุทธพงศ์ ช่างเหล็ก ตำรวจสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ที่ออกมาร่วมชุมนุมกับพี่น้องประชาชนเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ด.ต.ยุทธพงศ์ เป็นชาวมุสลิม เป็นคนกำเนิดที่บ้านอ่าวมะขาม เมื่อเขาเห็นว่าประเด็นที่มีการร้องเรียนเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเขาก็ก็มีการแสดงออกอย่างชัดเจนต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางจังหวัดต้องสั่งตำรวจให้ยุติคำสั่งตั้งคณะกรรมการทันที และไม่เอาผิดต่อการออกมาแสดงออกของ ด.ต.ยุทธพงศ์ และไม่เอาผิดประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมทั้งหมด” นายณรงค์ กล่าว

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากนี้ทางจังหวัดจะตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนภาคราชการ ตัวแทนโรงแรม และตัวแทนชาวบ้านเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยกัน โดยทางจังหวัดเน้นการอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ช่วยเหลือกัน ดูแลกันและเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ซึ่งบ้านเมืองเราเป็นเมืองท่องเที่ยว โดย 80 เปอร์เซ็นต์ประชาชนทำมาหากินกับการท่องเที่ยว และถ้ามีการท่องเที่ยวใดเสียหายไปจะลำบาก ทั้งนี้ ภูเก็ตเป็นเมืองสงบ เราไม่อยาก หรือต้องการให้เรื่องกระจายไปที่อื่น เราต้องการแก้ไขปัญหากันเอง จึงฝากไปถึงผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาขอให้ช่วยกันพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสามัคคี





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น