xs
xsm
sm
md
lg

สาว พนง.บัญชีถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงินกว่า 7 แสน อ้างพัวพันยาเสพติด (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สาวพนักงานบัญชีใน จ.สงขลา ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ปปง. หลอกให้โอนเงินในธนาคารสูญเงินเกือบ 7 แสนบาท โดยออกอุบายอ้างว่าเหยื่อเข้าไปพัวพันกับผู้ค้ายาเสพติด วอนตำรวจช่วยจับคนร้ายมาดำเนินคดี เผยเป็นเงินทั้งหมดที่จะเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ

วันนี้ (20 ก.พ.) นางอศรสุดา พิทักษ์ธรรม อายุ 47 ปี พนักงานฝ่ายบัญชีร้านสมัยไทย ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายชุดวิวาห์ในเขตเทศบาลนครสงขลา ถูแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ปปง. โทรศัพท์หลอกให้โอนเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตผ่านบัญชีธนาคารจนเกือบหมดตัวสูญเงินไปจำนวน 665,000 บาท โดยออกอุบายว่า เหยื่อมีชื่อเข้าไปพัวพันกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด และหากไม่โอนเงินจะถูกอายัดไว้ตรวจสอบ

โดย นางอศรสุดา ได้เปิดเผยว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา เวลา 11.49 น. ขณะที่ตนเองกำลังทำงานอยู่ ได้มีโทรศัพท์มือถือหมายเลข 06-1323-4998 โทร.เข้ามา ซึ่งปลายสายเป็นเสียงผู้หญิง บอกว่าตนได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารเรียบร้อยแล้ว ตนจึงปฏิเสธไปว่าไม่เคยกู้เงิน และได้ถามกลับไปว่า ธนาคารไหน เพราะไม่เคยยื่นเรื่องกู้เงินที่ไหนมาก่อน ผู้หญิงคนนั้นก็บอกว่า จะเช็กรายละเอียดให้อีกที ก่อนที่จะวางสายไป

ต่อมา เวลา 12.02 น. ผู้หญิงคนเดิมได้โทร.มาอีกครั้งโดยใช้เบอร์ 06-1531-2261 พร้อมกับแจ้งว่า ตนได้ยื่นเอกสารไว้ที่ธนาคารกสิกร สาขาบ้านบึง จ.ชลบุรี และเคยอนุมัติมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 พ.ย.57 ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ด้วยความเข้าใจว่า คนที่โทร.มาเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ตนเลยถามว่าจะทำการยกเลิกได้หรือไม่ และได้รับคำตอบว่าจะทำให้ โดยขอเลขบัตรประชาชน แต่ตนไม่ให้อ้างว่าจำไม่ได้ ผู้หญิงคนดังกล่าวจึงให้คุยกับผู้ชายอีกคน บอกว่า ชื่อ ร.ต.อ.ธวัชชัย อยู่สกุล ทำงานที่สำนักงาน ปปง. และให้เบอร์โทร 0-2219-3600 เพื่อให้ตนโทร.ไปตรวจสอบว่าเป็นพนักงาน ปปง. จริงหรือไม่ หลังจากนั้นได้วางสายไป ตนจึงได้โทรไปเช็กที่ 1113 ว่าเบอร์ 0-2219-3600 เป็นหน่วยงานไหน ซึ่งได้รับคำตอบว่า เป็นเบอร์ของสำนักงาน ปปง. จริง จึงเริ่มหลงเชื่อ

ต่อมา เวลา 12.22 น. มีเบอร์ 06-1531-2320 ของ ร.ต.อ.ธวัชชัย อยู่สกุล โทร.มาถามว่า จะให้ดำเนินการเกี่ยวกับการยกเลิกเอกสารแทนหรือไม่ ตนตอบว่าได้ เพราะเริ่มหลงเชื่อแล้วว่าเป็นเรื่องจริง แต่ระหว่างนั้นเสียงโทรศัพท์ไม่ชัดเหมือนมีเหตุขัดข้อง เลยวางสายไป และเวลา 12.25 น. ผู้ชายคนเดิมใช้เบอร์ 0-2219-3600 ซึ่งเป็นเบอร์สำนักงาน ปปง. ที่ตนได้ตรวจสอบไปยัง 1133 ก่อนหน้านี้ บอกว่าเอกสารทั้งหมด น.ส.สุจิตรา ชาว จ.เชียงราย เป็นคนยื่นแบบเงินกู้ร่วมกับคนอื่นอีก 23 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีตนรวมอยู่ด้วย และ นางสุจิตรา มีประวัติพัวพันเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด ถ้าจะอนุญาตให้ทำการยกเลิกเงินกู้ต้องให้รายละเอียดทั้งหมด

หลังจากนั้น ได้ให้ผู้เสียหายคุยกับผู้ชายอีกคนอ้างชื่อ พ.ต.อ.วรรณพงศ์ ซึ่งได้สอบถามเรื่องอาชีพ รายได้ สถาบันการเงินที่ตนฝากเงินไว้ และตนได้แจ้งไป 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย และผู้ชายที่อ้างชื่อ พ.ต.อ.วรรณพงศ์ ได้ตอบกลับมาว่า ตามที่ได้เช็กกับธนาคารแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ยังมีอีก 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นความจริง แต่ตนไม่ได้บอก จึงยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือเข้าไปอีก

โดย พ.ต.อ.วรรณพงศ์ ยังให้คำแนะนำว่า ให้ถอนเงินออกจากธนาคารที่ตนฝากไว้ออกมาทั้งหมด เนื่องจาก น.ส.สุจิตรา ซึ่งมีส่วนพัวพันกับยาเสพติดตั้งแต่ปี 2555 และมีรายชื่อของตนรวมอยู่ด้วย หาก น.ส.สุจิตรา ถูกดำเนินคดีก็จะพัวพันมาถึงตนด้วย และหาก น.ส.สุจิตรา ผิดจริง เงินของตนก็จะถูกอายัดเป็นของกลางทั้งหมด แต่ถ้าไม่ผิดก็ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ถึงจะเบิกถอนได้ตามปกติ ตนเลยตัดสินใจกลับบ้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงาน แล้วนำสมุดไปถอนเงินที่ธนาคาร ซึ่งระหว่างที่เดินไปธนาคารยังมีการคุยสอบถามว่า ระยะเวลา และระยะทางในการถอนเงินด้วยว่าไกลหรือไม่ และบอกว่าอย่าปิดมือถือ เพราะเขาจะติดต่อให้คำแนะนำเป็นระยะๆ และย้ำว่า ต้องให้ความร่วมมือต่อหน่วยราชการซึ่งแทบไม่มีโอกาสได้วางสาย หรือคุยขอคำปรึกษากับใครเลยในขณะนั้น

นางอศรสุดา บอกว่า ด้วยความที่หลงเชื่อสนิทใจจึงได้ถอนเงินสดจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประจำออกมาหมดบัญชี จำนวน 682,863 บาท และถอนจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารกสิกรไทยอีก 33,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 715,863 บาท ต่อมา เวลา 13.21 น. มีเบอร์ 0-2219-3600 ของ ปปง.ได้โทร.เข้ามาถามถึงยอดเงินที่ถอนมาทั้งหมด ตนจึงบอกไป และยังแนะนำว่าเงินนี้ต้องนำมารันตัวเลข เพื่อจะเก็บเอาไว้เป็นหลักฐาน และได้ให้เลขบัญชีธนาคารที่จะให้ตนโอนไป โดยอ้างว่าได้ขอโค๊ดบัญชีจากธนาคารชาติแล้ว เพื่อไว้เป็นหลักฐานเมื่อคดีสิ้นสุด

จากนั้นตนจึงไปโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย สาขานครใน จำนวน 8 ครั้ง รวมเป็นเงิน 665,000 บาท ส่วนที่เหลือโอนไม่ได้ เพราะเครื่องอาจขัดข้อง โดยระหว่างโอนเงินมีการติดต่อกันตลอดว่าให้ทำอย่างไร และถามถึงจำนวนเงินที่โอนไป โดยอ้างว่าเป็นการบันทึกเสียงของทางราชการ และเมื่อโอนเงินเสร็จให้ทำลายเอกสารทั้งหมดเพราะเป็นความลับของทางราชการ ซึ่งหลังโอนเสร็จตนเหลือเงินอยู่ 50,863 บาท เพราะโอนไม่ได้

ต่อมา ตนได้เดินกลับบ้าน และเมื่อตั้งสติได้ก็มานึกทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็รู้สึกเอะใจ เพราะมันแปลกๆ ดูเหมือนว่าเรื่องมันจะง่ายเกินไป และคิดว่าน่าจะถูกหลอกแล้ว ต่อมา เวลา 15.34 น. จึงได้โทรไปยังเบอร์ 0-2219-3600 ของสำนักงาน ปปง. และสอบถามว่า มี ร.ต.อ.ธวัชชัย อยู่สกุล ทำงานที่นี่หรือไม่ และได้รับคำตอบว่าไม่มี และวางสายไป ส่วนเบอร์มือถืออื่นๆ ไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

หลังรู้ว่าถูกหลอกตนถึงกับเข่าอ่อน เพราะต้องสูญเสียเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต โดย นางอศรสุดา เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุได้โทร.ไปที่เบอร์ 0-2219-3600 ซึ่งปรากฏว่าเป็นเบอร์ของสำนักงาน ปปง. จริงๆ หลังแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด และได้รับคำแนะนำให้นำหลักฐานการโอนเงินทั้งหมดไปแจ้งความ ซึ่งตนได้เข้าแจ้งความไว้ที่ สภ.เมืองสงขลา แล้ว

โดยตำรวจได้ตรวจสอบหมายเลขบัญชีปลายทางที่โอนเงินไป ซึ่งมี 2 บัญชี คือ บัญชีเลขที่ 6840148297 พบว่า เป็นของธนาคารกรุงเทพ สาขาเทสโก้ แม่สาย จ.เชียงราย มี นายศุภชัย กันใจ เป็นเจ้าของบัญชี และบัญชีหมายเลข 5214248297 เป็นของธนาคารกรุงเทพ สาขาหน้าเมือง จ.ขอนแก่น โดยมี นายฉลอง ชมพู เป็นเจ้าของบัญชี

นางอศรสุดา บอกว่าต้องการให้ตำรวจช่วยจับคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ และต้องการเงินคืน เพราะเงินนี้เป็นเงินเก็บไว้ใช้ตอนเกษียณหลังทำงาน และเป็นอุทาหรณ์แจ้งเตือนคนอื่นๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้อีก

ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นตนยังติดใจว่า เบอร์ของสำนักงาน ปปง. ซึ่งเป็นเบอร์เดียวกับที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทร.มานั้นเหมือนกันได้อย่างไร ซึ่งจากการไปสอบถามที่องค์การโทรศัพท์บอกว่า เป็นไปได้ที่เบอร์จะถูกแฮก แต่เป็นเรื่องที่ยากมาก และจะต้องมีการโทร.ออกจากภายใน หรือมีการเชื่อมต่อกับคู่สายภายในองค์กรเท่านั้น จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ซึ่งหากหน่วยงานใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติมให้สอบถามมาตนได้ที่เบอร์ 08-1766-7629
   

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น