ระนอง - อบจ.ระนอง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอกระบุรี จัดงานประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์ ประจำปี 2558 เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพของท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดระนอง และประชาสัมพันธ์สินค้าโอทอปของดีเมืองกระ ให้รู้จักอย่างแพร่หลาย
องค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง ร่วมกับอำเภอกระบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลลำเลียง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอกระบุรี จัดงานประเพณีขึ้นถ้ำพระขยางค์ ประจำปี 2558 ซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2558 ณ บริเวณถ้ำพระขยางค์ หมู่ที่ 5 ต.ลำเลียง อ.กระบุรี เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ส่งเสริมอาชีพของท้องถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดระนอง และประชาสัมพันธ์สินค้าโอทอปของดีเมืองกระ ให้รู้จักอย่างแพร่หลาย
สำหรับกิจกรรมในงาน ประกอบด้วย ริ้วขบวนแห่ตำนานถ้ำพระขยางค์และของดีเมืองกระ การแสดงแสงเสียงตำนานถ้ำพระขยางค์ การออกร้านจำหน่ายสินค้าโอทอปของจังหวัดระนอง การประกวดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของดีอำเภอกระบุรี การแข่งขันเซปักตะกร้อไทย-พม่า นิทรรศการวิถีถิ่นของดีเมืองกระ ชมทิวทัศน์รอบถ้ำพระขยางค์ ประกวดโค การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และขึ้นถ้ำพระขยางค์ชมความงดงามซึ่งจะมีหินงอกหินย้อยเป็นประกายในยามค่ำคืน และดูวิถีชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ค้างคาว) นับพันตัวที่อาศัยอยู่ในถ้ำพระขยางค์ยามค่ำคืน
ถ้ำพระขยางค์ มีประวัติความเป็นมาว่า นายแก้ว ซึ่งเป็นนายบ้านชาวนครศรีธรรมราชจับกระทองมาได้ตัวหนึ่ง จึงได้นำไปมอบให้เจ้าเมืองชุมพร เจ้าเมืองนำไปถวายแก่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา นายแก้ว จึงมีความชอบได้เลื่อนเป็นพระแก้วโกรพ ครองเมืองกระ นายแก้ว ส่งนายทอง ลูกชายไปเรียนวิชาที่เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อสำเร็จมาแล้วจะได้เป็นเจ้าเมืองสืบแทนตน ระหว่างนั้น นายแก้ว ได้เมียอีกคนชื่อนางจั่น เมื่อนายทอง เรียนวิชาจนกลับมาบ้าน เกิดชอบพอกับนางจั่น เมียน้อยของพ่อ พ่อโกรธจึงให้คนจับลูกจะไปฆ่า แต่ลูกมีวิชาอยู่ยงคงกระพันจึงฆ่าไม่ตาย พ่อจึงให้จับมัดกับไม้ 3 ท่อน ซึ่งปักโคนทแยงเป็นขาหยั่ง มัดติดไว้แล้วเอาไปไว้ในถ้ำที่เขาแหลมเนียง หวังจะให้อดอาหารตาย ถ้ำนี้จึงได้ชื่อว่า “ถ้ำขาหยั่ง” ต่อมาออกเสียงเพี้ยนเป็นขยางค์