xs
xsm
sm
md
lg

ม.ราชภัฏภูเก็ต ร่วมปั้น “น้ำพริกปลาหยอง” บ้านแหลมพัน สู่ผลิตภัณฑ์ OTOP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ทีม Andamanpearl ร่วมกับชุมชนหมู่ 8 บ้านแหลมพันวา จ.ภูเก็ต พัฒนา “น้ำพริกปลาหยอง” ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นสู่สินค้า OTOP พร้อมส่งนักวิชาการเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ สู่การขยายฐานลูกค้า สร้างงาน และรายได้อย่างยั่งยืน

รศ.ประภาศรี อึ่งกุล ประธานสาขาวิชาบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นักศึกษาทีม Andamanpearl จากสาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ คณะวิทยาการจัดการ ได้จัดทำโครงการพัฒนาชุมชนแหลมพันวาอย่างพอเพียงด้วยน้ำพริกปลาหยอง ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้มัสยิดนู่รนอิสสามิยะห์ บ้านแหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากนักศึกษาได้เข้าร่วมประกวดโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว ประจำปี 2557 ระดับภาคใต้ และเข้ารอบเป็น 40 ทีมสุดท้าย ที่จะไปแข่งขันรอบต่อระดับประเทศ ในเดือน ก.พ. 2558 สำหรับจุดเริ่มต้นของโครงการเกิดจากอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาท้องถิ่น และปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆ เพื่อเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งต้องการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และมีจิตสาธารณะ คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

ดังนั้น เมื่อมีโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาวเข้ามา ทางกลุ่ม Andamanpearl จึงได้เลือกน้ำพริกปลาหยอง ซึ่งเป็นอาหารจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในชุมชน หมู่ 8 บ้านแหลมพันวา ดำเนินงานโดยกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งมีจุดแข็งของตัวผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และใช้วัตถุดิบสดๆ จากท้องทะเลในพื้นที่ จากจุดนี้เอง มหาวิทยาลัยจึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างผู้นำชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน คณาจารย์ นักศึกษา และคณะผู้สังเกตการณ์จากโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว ร่วมด้วยวิทยากรจาก ม.ราชภัฏภูเก็ต ได้แก่ อาจารย์ด้านอาหารและโภชนาการ มาให้ความรู้เรื่องการถนอมอาหาร และการเสริมคุณค่าทางโภชนาการ อาจารย์ด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มาเผยโฉมเครื่องหมายการค้า และบรรจุภัณฑ์น้ำพริกปลาหยอง ในรูปแบบที่ทันสมัย สร้างจุดขายที่น่าจดจำ และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเว็บไซต์ ที่แนะนำช่องทางการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น รวมทั้งช่วยหาทางผลักดันน้ำพริกปลาหยอง บ้านแหลมพันวา ให้ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อยกมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถสร้างงาน และรายได้ให้แก่ชาวบ้านอย่างยั่งยืน


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น