xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ “ตื่นทองพัทลุง” จากข่าวดังสู่ “รหัสคดีนิยาย” จากปลายปากกาคนสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเหตุการณ์ขณะชาวบ้านแห่เข้าไปขุดหาทองในที่ดินของนายวิ ทับแสง (แฟ้มภาพ)
 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

พัทลุง เป็นจังหวัดเล็กๆ ในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง เท่าที่ผ่านมา หากไม่มีข่าวแปลกประหลาดประเภท “น้องใหญ่ แม่ขรี” สาวที่มีอวัยวะเพศขนาดมหึมา ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้ว หรือหากไม่ใช่เหตุการณ์น้ำท่วมขังนานนับเดือนในบริเวณชุมชนที่อยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา หรือเหตุการณ์ยิงถล่มนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ รวมถึงกรณีของพระวัดนาท่อม สมสู่กับสุนัข จ.พัทลุง ก็แทบจะไม่มีชื่อปรากฏอยู่ในข่าวรายวันเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ข่าวที่เกิดขึ้นใน จ.พัทลุง ได้ส่งผลให้จังหวัดเล็กๆ แห่งนี้เป็นที่รู้จัก และจดจำของใครหลายๆ คนมาจนถึงทุกวันนี้ นอกเหนือจากข่าวการฆาตกรรมอำพราง นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นักธุรกิจชื่อดังที่ถูกสังหาร และฆาตกรได้นำศพมาฝังอำพรางคดีในพื้นที่ อ.เมืองพัทลุง เมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา (ซึ่งฆาตกรในคดีนี้ได้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตแต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาคดีนี้ไปเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา)
ลักษณะทองคำรูปแบบต่างๆ ที่ขุดพบในที่ดินของนายวิ ทับแสง (ภาพอินเตอร์เน็ต)
 
ต่อมา ในเดือน พ.ค.2557 จ.พัทลุงก็ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังอีกครั้ง หลังจากมีการขุดพบทองคำในสวนปาล์มน้ำมันของ นายวิ ทับแสง ที่ ม.7 ต.เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา

เรื่องของเรื่องคือ นายวิ ทับแสง เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวได้ว่าจ้างรถแบ็กโฮให้เข้ามาขุดลอกที่ดินเพื่อปรับพื้นที่สำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน จนกระทั่งหลายวันผ่านไป นายวิ พบว่ามีทองรูปพรรณและทองคำแท่งจำนวนมากปะปนอยู่กับดินที่ขุดขึ้นมา เขาเก็บรวบรวมสะสมทองคำรูปแบบต่างๆ ไว้ได้จำนวนมาก ทั้งทองคำแผ่นจารึกอักษรจีน ทองคำรูปพรรณ และทองคำแท่ง จากนั้นไม่นานเมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไป ชาวบ้านทั้งใน จ.พัทลุง และจังหวัดใกล้เคียงต่างแห่แหนกันเข้ามาขุดหาทองคำในที่ดินของนายวิ ข่าวการตื่นทองพัทลุงจึงได้ครองพื้นที่สื่ออยู่นานนับเดือน
ทองคำแผ่น
 
แต่การตื่นทองของชาวบ้านดำเนินไปได้ไม่กี่วัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่เพิ่งยึดอำนาจจากรัฐบาล และเข้ามาบริหารประเทศได้เพียง 4 วัน ก็ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปขุดทองในบริเวณนั้นอีกโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งสั่งการให้ทหารช่างนำเครื่องจักรกลหนักเข้ามาขุดสำรวจร่วมกับนักโบราณคดี เบื้องต้นสันนิษฐานว่า บริเวณที่พบทองคำอาจเป็นโบราณสถานและอาจจะมีโบราณวัตถุฝังอยู่ใต้ดินอีกก็อาจเป็นได้ แต่หลังจากทหารลงมือขุดสำรวจที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่เป็นเวลาหลายวัน กลับไม่มีรายงานว่าพบสิ่งของมีค่า และซากโบราณสถานใต้ผืนดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด ปรากฏการณ์ตื่นทองใน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จึงจบลงเพียงแค่นั้น

สรุปได้ความว่า ทองคำที่พบนั้นถูกบรรจุอยู่ในไหดินเผาขนาดใหญ่ 3 ไห บ้างก็สันนิษฐานว่าอาจเป็นทองคำที่ผู้มีจิตศรัทธาเตรียมนำไปบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดเขียนบางแก้ว อ.บางแก้ว จ.พัทลุง หรืออาจจะนำไปบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุ วรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 400-500 ปีก่อน แต่การเดินทางด้วยเรือในสมัยนั้นอาจเกิดอุบัติเหตุเรือล่มระหว่างทาง หรือเป็นไปได้เช่นกันว่า คณะผู้อัญเชิญทองคำเดินทางไปไม่ทันการบูรณะพระบรมธาตุ จึงได้ฝังทองคำไว้ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับเส้นทางเดินเรือในอดีต โดยทองคำที่พบผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า น่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าถูกนำมาฝังไว้ตั้งแต่เมื่อใด

 
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของชาวบ้าน และผู้ที่สนใจในปรากฏการณ์นี้เท่านั้น ขณะที่กรมศิลปากรซึ่งดูแลเรื่องนี้โดยตรงยังไม่เปิดเผยข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด

ข่าวการขุดพบทองคำที่ อ.เขาชัยสน เป็นที่สนใจของผู้คนในวงกว้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งนักเขียนอย่าง “บัณรส บัวคลี่” คอลัมนิสต์ชื่อดังของ “ASTVผู้จัดการ” ที่นำแรงบันดาลใจจากปรากฏการณ์นี้ มาร้อยเรียงเป็นนิยายแนวสืบสวนสอบสวนเตรียมนำออกเผยแพร่ในเร็วๆ นี้

“ตอนที่มีข่าวฮือฮาขุดพบทองคำที่เขาชัยสนใหม่ๆ ตอนนั้นราวปลายเดือน พ.ค. ผมก็ติดตามข่าวสารเหมือนกับคนที่อยากรู้อยากเห็นทั่วๆ ไป แรกๆ มีการสันนิษฐานไปต่างๆ นานา เช่น ทองคำที่นำไปถวายบูรณะพระธาตุนครศรีฯ บ้าง พระธาตุวัดเขียนบางแก้วเอย ไปค้นเรื่องตำนานพระนางเลือดขาวขึ้นมาประกอบ สำหรับคนที่ชอบคิดชอบจินตนาการน่าสนุกสนานในทางสติปัญญา เอาแค่ว่าทองเหล่านี้มาได้อย่างไร มีความเป็นมาอย่างไรก็สนุกแล้ว”
 
บัณรส บัวคลี่ ผู้เขียนนิยายเรื่อง ขุมทองเขาชัยสน
 
บัณรส กล่าวว่า หลายวันเข้าปริมาณทองคำที่พบมันมากขึ้น มีรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น มีทั้งแบบที่หลอมเป็นก้อน มีทั้งแบบทองรูปพรรณ และที่น่าสนใจที่สุดคือ ทองเป็นแผ่น หรือทองใบแบบจีน ข้อมูลส่วนนี้ทำให้สะดุดใจขึ้นมา เพราะมีความรู้พื้นฐานมาก่อนว่าน่าจะเป็นเงินตราโบราณของจีน ยิ่งมีข่าวว่ามีตราประทับเป็นอักษรจีนด้วย ยิ่งมั่นใจว่าทองเหล่านี้ไม่ธรรมดาแล้ว

“ก็เลยนึกจินตนาการต่อไปเรื่อยเปื่อย ระหว่างนั้นก็คลิกกูเกิลดูว่า เอ๊ะ! ทองคำแบบแผ่น หรือทองคำใบนี่มันยุคไหน เมื่อได้ยุคสมัยมา เราก็ผสมผสาน ปะติดปะต่อ พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เป็นการจำลองสถานการณ์ขึ้นตามความเชื่อ หรือจินตนาการส่วนตัว”
นายวิ ทับแสง (ขวา) ผู้ค้นพบขุมทรัพย์ทองคำโบราณ นำทองคำส่วนหนึ่งที่ขุดพบมาคืนให้กับทางราชการ (แฟ้มภาพ)
 
เขากล่าวว่า นึกครึ้มอกครึ้มใจขึ้นมาเลยนำมาเขียนเป็นนิยายลงในเฟซบุ๊ก แต่ละตอนที่เขียนนี่เร็วมาก ด้วยไม่เกร็ง เขียนเอามัน แค่อยากนำเสนอความคิดตามประสาพวกชอบฟันธงว่าทองที่ว่านั้นต้องเกี่ยวกับเมืองจีนแน่...จึงเปิดฉากนิยายให้มีผู้เชี่ยวชาญจากเมืองจีนเดินทางมาพร้อมกับทีมของสถานทูตเข้าไปในพื้นที่ พอได้หลายตอนขึ้นเริ่มเสียดายถ้าจะทิ้งไปกลางคัน พอดีเห็นประกาศเชิญชวนส่งนิยายเข้าประกวดรางวัลแว่นแก้ว กำหนดให้ส่งปลายปี 2557 ก็เลยเอาวะ...เขียนส่งรางวัลนี้ดีกว่า เลยมุ่งมั่นเขียนต่อเรื่อยมา ความยาวของนิยายก็งอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 200 หน้า เกินกว่าเงื่อนไขการประกวดรางวัลไปแล้ว

“ผมอยากจะบอกว่า ภาคใต้ของเราเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ในแง่ของประวัติความเป็นมา มีเหตุการณ์น่าสนใจเยอะ เช่น ชุมโจรบ้านดอนทรายที่ควนขนุน ในสมัยรัชกาลที่ 6 ผมก็หยิบเหตุการณ์นี้มาใส่ในนิยายด้วย หรืออย่างการค้าทางทะเล เมืองท่าต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับภายนอก ภาคใต้ของเรามีครบหมด มีสีสันมาก เหล่านี้...เป็นต้นทุนของภาคใต้ที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้อีกมหาศาล”

 
การค้นพบขุมทรัพย์ทองคำโบราณที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง จนถึงขณะนี้ยังคงไม่ทราบที่มาแน่ชัดว่าทองคำที่ชาวบ้านขุดพบนั้นมีประวัติความเป็นมา และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของ จ.พัทลุง รวมถึงพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดหรือไม่ อย่างไร เนื่องจากทองคำที่พบจำนวนมากได้ตกไปอยู่ในมือของพ่อค้าร้านทอง และยากที่จะตามกลับคืนมาได้

ส่วนการขุดค้นทางโบราณคดีของนักวิชาการ กรมศิลปากร กลับไม่พบหลักฐานใดๆ เพิ่มเติม ฉะนั้น ประวัติความเป็นมาของขุมทองเขาชัยสน จ.พัทลุง จึงยังคงเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ และปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากเชื่อว่าขุมทรัพย์ทองคำโบราณลักษณะนี้น่าจะถูกฝัง หรือซุกซ่อนอยู่ตามที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น เชื่อว่าเรื่องเล่า หรือตำนานที่เกี่ยวกับขุมทรัพย์โบราณรอบทะเลสาบสงขลาไม่ต่ำกว่า 10 เรื่อง ที่ถูกเล่าขานต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคน เช่น ตำนานขุมทรัพย์หัวนายแรง ที่หาดเก้าเส้ง อ.เมืองสงขลา หรือตำนานขุมทรัพย์ที่โคกนกคุ้ม ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลานั้นเป็นเรื่องจริง มีขุมทรัพย์จริงๆ ที่รอคอยผู้โชคดีเดินทางมาค้นพบก็อาจเป็นได้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น