xs
xsm
sm
md
lg

พระสุเทพเฮหลังศาลยกฟ้องคดีแจกของเลือกตั้งนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ปี 2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - พระสุเทพ พร้อมพวก เดินทางลงเกาะสมุย ฟังคำตัดสินศาลหลังถูกฟ้องคดีแจกของเลือกตั้งนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ปี 51 สุดท้ายได้เฮ เมื่อศาลตัดสินยกฟ้อง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (30 ธ.ค.) พระสุเทพ ปะภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายประพนธ์ นิลวัชรมณี อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยพระสงฆ์จากสวนโมกข์ จำนวน 2 รูป และผู้ติดตาม ได้เข้าห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลจังหวัดเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อมาฟังคำพิพากษาตัดสินที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 3 ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จำเลยที่ 1 นายชุมพล กาญจนะ จำเลยที่ 2 นายประพนธ์ นิลวัชรมณี จำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา4, 5, 57, 118 ริบผ้าขนหนูของกลาง และสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งจำเลยทั้ง 3 เป็นระยะเวลา 10 ปี

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2551 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี และสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี รวม 30 เขตเลือกตั้ง ซึ่งอำเภอเกาะสมุย เป็นเขตเลือกตั้ง 1 ใน 30 เขตเลือกตั้ง โดยกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551 มีนายมนตรี เพชรขุ้ม ลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ.หมายเลข 1 นายธานี เทือกสุบรรณ ลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ.หมายเลข 2 และนายสุวพัฒน์ สมหวัง ลงสมัครสมาชิก อบจ.หมายเลข 1 นายสุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิก อบจ.หมายเลข 2 ในเขตอำเภอเกาะสมุย

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 เม.ย.2551 เทศบาลตำบลเกาะสมุย ได้จัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้น ในงานดังกล่าวทางจำเลยทั้ง 3 ที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ ได้มาร่วมงาน และเฉพาะจำเลยที่ 1 ยังดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นพี่ชายของนายธานี โดยมี นายสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงานรดน้ำผู้สูงอายุในครั้งนี้ด้วย โดยจำเลยทั้ง 3 นำผ้าขนหนูที่ปักอักษร ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.ชุมพล กาญจนะ ส.ส.ประพนธ์ นิลวัชรมณี ส.ส.สุเทพ เทือกสุบรรณ มามอบให้แก่ผู้สูงอายุที่มาร่วมงานประเพณีรดนำดำหัวด้วย

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 นายมนตรี เพชรขุ้ม ผู้สมัครนายก อบจ. และนายสุวพัฒน์ สมหวัง ผู้สมัครสมาชิก อบจ.เขตเกาะสมุย ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งในวันที่ 20 เมษายน 2551ว่า การที่จำเลยทั้ง 3 และนายสุริญญา ยืนนาน มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์ และมอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้นไม่ถือว่าเป็นการให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินอันอาจคำนวณเป็นเงินให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อจูงใจให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ นายธานี เทือกสุบรรณ และนายสุริญญา ยืนนาน ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ยังเป็นพี่ชายของนายธานี เทือกสุบรรณ อีกด้วย

ต่อมา ทางกกต.จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น พ.ศ.2545 ต่อมาศาลอุทรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง นายสุริญญา ยืนนาน เป็นเวลา 5 ปี และให้จัดมีการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิก อบจ.เขตอำเภอเกาะสมุยใหม่ ซึ่งคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการเดียวว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่เฉพาะส่วนที่จำเลยทั้ง 3 มาร่วมงานประเพณีสงกรานต์ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งนั้น

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงน่าเชื่อว่าการที่จำเลยทั้ง 3 มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้สูงอายุนั้นน่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับ นายสุริญญา ยืนนาน ส่วนการที่จำเลยทั้ง 3 มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุที่มีการปักข้อความว่าพรรคประชาธิปัตย์ และจำเลยที่ 1 สวมเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจจะสื่อความหมายในทำนองว่า ให้สนับสนุน นายสุริญญา ยืนนาน ผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์นั้น ทางอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต.สุราษฎร์ธานี เบิกความตอบโจทก์ว่า การที่นายสุริญญา ยืนนาน ลงสมัครสมาชิก อบจ.สุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุยนั้น นายสุริญญา ไม่มีหนังสือรับรองจากพรรคประชาธิปัตย์ และทางปลัด อบจ.สุราษฎร์ธานี ก็ได้รับแจ้งว่า นายสุริญญา ก็ไม่ได้ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบกับจำเลยที่ 1 ลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองเป็นเวลา 30 ปี จำเลยที่ 1 ก็สวมเสื้อที่มีข้อความ หรือสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

และตามที่บุคคลทั้งสามได้มาร่วมงานประเพณีวันสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุยในขณะนั้น ศาลจังหวัดเกาะสมุย เห็นควรให้ยกฟ้อง เนื่องจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายประพนธ์ นิลวัชรมณี และนายชุมพล กาญจนะ ได้เข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลตำบลเกาะสมุย จากการเชิญเข้าร่วมงานรดน้ำ และได้มอบผ้าขนหนูให้แก่ผู้สูงอายุนั้นพบว่า นายธานี เทือกสุบรรณ ที่ลงสมัครในตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายสุริญญา ยืนนาน ผู้ลงสมัครสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย ไม่ได้อยู่ในพิธีในขณะนั้น เนื่องจากได้เดินทางไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ที่บ้านใต้ ตำบลแม่น้ำ อำเภอเกาะสมุย ทำให้การเข้าร่วมงานประเพณีสงกรานต์ของทั้ง 3 คน ไม่ได้เกี่ยวข้องที่จะเป็นการจูงใจให้ผู้สูงอายุเลือก นายสุริญญา ยืนนาน และนายธานี เทือกสุบรรณ บุคคลทั้งสองแต่อย่างใด เพราะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสมาชิกองค์บริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผลการเลือกตั้งประชาชนส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ ถึงแม้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นายประพนธ์ นิลวัชรมณี และนายชุมพล กาญจนะ ถึงแม้บุคคลทั้ง 3 ไม่ได้ลงพื้นที่ก็ตาม คะแนนการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังนำคู่แข่งในทุกเขตเลือกตั้ง จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยทั้ง 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/2 ส่วนผ้าขนหนูของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินของกลางที่จำเลยได้ใช้กระทำความผิด จึงมีคำสั่งให้คืนของกลางแก่เจ้าของ ศาลจังหวัดเกาะสมุย จึงมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน

หลังจากฟังคำพิพากษาเสร็จ พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพระสงฆ์ 2 รูป และผู้ติดตามได้เดินทางออกจากศาลจังหวัดเกาะสมุยในทันที
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น