xs
xsm
sm
md
lg

“มรสุมชาวสวนยาง” ท่ามกลางวิกฤตอุทกภัยภาคใต้ / ธีรวุฒิ อ่อนดำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
ธีรวุฒิ อ่อนดำ  ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่
 
 
นับตั้งแต่ปลายปี 2554 เป็นต้นมา ราคายางพารามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา สถานการณ์เริ่มเลวร้ายเข้าขั้นวิกฤต ทำสถิติราคาต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี ที่ราคา 41 บาท/กก. (ยางแผ่นดิบ @ ราคาท้องถิ่น) และ 37 บาท/กก. (น้ำยางสด @ ณ โรงงาน) ส่งผลทำให้เกษตรกรชาวสวนยางทางภาคใต้ได้รับความเดือดร้อน และประสบภาวะขาดทุนอย่างมาก
 
และในท่ามกลางวิกฤตราคายางที่หนักหน่วง เกษตรกรชาวสวนยางยังต้องประสบกับปัญหาวิกฤตอุทกภัย จากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้หลายพื้นที่ในภาคใต้มีฝนตกหนัก บางพื้นที่ต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม และหลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ส่งผลให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ในภาคใต้ไม่ได้กรีดยางติดต่อกันมานานเป็นเวลากว่า 3 เดือน
 
จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางทางภาคใต้เพิ่มขึ้น อีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสีย การกู้เงินนอกระบบ การตามทวงหนี้ของแก๊งทวงหนี้ รวมทั้งกระทบต่อการศึกษาของบุตรหลานชาวเกษตรกรสวนยาง ทำให้บางคนต้องออกจากการเรียนกลางคัน เนื่องจากทางบ้านไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ แม้ว่าบางสถานศึกษาจะมีการปรับเกณฑ์การจ่ายชำระค่าเทอม มีการแบ่งจ่าย ผ่อนผันให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นก็ตาม โดยเฉพาะในส่วนของนักเรียน และนักศึกษาที่ต้องการใช้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา กยศ. และ กรอ. แต่ปัจจุบันกองทุนเหล่านี้มีไม่เพียงพอ เนื่องจากมีผู้กู้รายใหม่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
 
การหาทางออกของเกษตรกรชาวสวนยางหลายพื้นที่ในภาคใต้ ต่างพยายามปรับตัวด้วยการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เกษตรกรส่วนหนึ่งถึงกับเปลี่ยนอาชีพไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน แต่ก็ไม่สามารถหารายได้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามแก้ไขปัญหา และผลักดันระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น โดยการออกมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ แต่มาตรการที่ออกมาดูเหมือนจะยังรักษาไม่ตรงอาการ และยังคงสร้างความสิ้นหวังให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
 
ถึงแม้ว่าปัญหาเกี่ยวกับราคายางจะส่งผลต่อปากท้อง และวิถีความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมาก แต่จำเป็นต้องให้เวลาแก่รัฐบาลในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากปัญหาราคายางเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
 
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจรอได้ นั่นคือ โอกาสทางการศึกษาของบุตรหลานชาวเกษตรกรสวนยาง ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในขณะนี้ เนื่องจากการลาออกกลางคันของนักเรียน และนักศึกษานับวันยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ดังนั้น ก็ได้แต่หวังและลุ้นว่า ปีใหม่ 2558 นี้ รัฐบาลจะส่งคืนความสุขด้านการศึกษาให้แก่บุตรหลานของเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้อย่างไร???
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น