ตรัง - ชาวอำเภอปะเหลียน และอำเภอย่านตาขาว จ.ตรัง ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์นกบินหลาดง บริเวณเทือกเขาบรรทัด เป็นแห่งแรกของไทย ยันมีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ
วันนี้ (26 ธ.ค.) นายนิพนธ์ พลสังข์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงนกบินหลาดงจังหวัดตรัง กล่าวว่า กางเขนดง หรือบินหลาดง ถือเป็นนกที่คนไทยรู้จักกันดี และยังเป็นนกประจำถิ่นภาคใต้ แต่น้อยคนนักที่จะได้พบในธรรมชาติ เพราะเป็นนกที่ปราดเปรียว และชอบหลบซ่อนตัวอยู่ในป่ารกทึบ โดยเฉพาะกอไผ่ ส่วนใหญ่จึงมักเห็นนกชนิดนี้ในกรง เนื่องจากหลายคนชอบเลี้ยงไว้ฟังเสียงร้อง ซึ่งยกย่องกันว่าไพเราะที่สุด รวมทั้งมีสีสันของลำตัวสวยงาม โดยเฉพาะบริเวณท้องที่เป็นสีแดงอมน้ำตาล และมีหางยาวกว่าปีก โดยพบว่า บริเวณเทือกเขาบรรทัด ระหว่างจังหวัดสตูล ตรัง ไปจนถึงนครศรีธรรมราชนั้น นับเป็นแหล่งที่มีนกบินหลาดงที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศ
อย่างไรก็ตาม จากสภาพป่าไม้ที่ถูกทำลาย ส่งผลให้นกบินหลาดงตามธรรมชาติค่อยๆ ลดน้อยลง ดังนั้น ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในพื้นที่อำเภอปะเหลียน และอำเภอย่านตาขาว จึงรวมตัวกันเพาะขยายพันธุ์นกบินหลาดงจนประสบความสำเร็จขึ้นเป็นแห่งแรกของไทย โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว จะไข่ออกมาครั้งละ 4-5 ฟอง และฟักเป็นตัวเกือบทั้งหมด ในระยะเวลา 14 วัน พร้อมทั้งสามารถผสมพันธุ์ในกรงได้ปีละ 3-4 ครั้ง ซึ่งหลังจากที่ลูกนกเริ่มกินอาหารเม็ดได้ 45 วัน ก็นำไปขายได้ในราคาคู่ละ 5 พันบาท หรือหากเลี้ยงไป 1 ปี ก็จะกลายเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่มีราคาขายคู่ละ 1 หมื่นบาท และอาจสูงถึงตัวละเกือบ 1 แสนบาท หากมีประวัติ และผลงานดี
นายวันชัย ทองเกลี้ยง ชาวบ้านหนานปู ตำบลในควน อำเภอย่านตาขาว กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงนกบินหลาดงในพื้นที่ภาคใต้กำลังกลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้น หลังจากที่ห่างหายไปนานจนเกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะนกบินหลาดง มีทั้งสำนวน น้ำเสียง ลีลา และขันทนไม่แพ้นกกรงหัวจุก โดยลูกนกที่ออกมาจากการเพาะขยายพันธุ์ของทางกลุ่ม สามารถเติบใหญ่ และมีคุณภาพดี ทั้งเสียงร้อง และสีสัน จนเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเลี้ยงก็ทำได้ไม่ยุ่งยากมาก เพราะมีอาหารสด เช่น จิ้งหรีด หนอน ไส้เดือน รวมทั้งอาหารเม็ดจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไป เพียงแค่ทำกรง และรังให้เป็นธรรมชาติ และมิดชิดมากที่สุด