ปัตตานี - รอง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานเปิดงานรับมอบครูฝึกสอนจากประเทศอินโดนิเซีย เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษแก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 5 เดือน จำนวน 125 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย พบผลสัมฤทธิ์ในรุ่นที่ผ่านมาเป็นไปตามคาด
วันนี้ (5 พ.ย.) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี พล.ต.นพวงศ์ สุรวิชัย รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธานเปิดงาน พิธีรับมอบครูฝึกสอนจากประเทศอินโดนีเซีย โครงการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสมาคมศิษย์เก่าต่างประเทศจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย
โดยมีนายกสมาคมศิษย์เก่าต่างประเทศจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายกองค์การบริหารจังหวัดปัตตานี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อธิการบดีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา 15 แห่งในประเทศอินโดนีเซีย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ภาคใต้ และนักศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
นายซายูดี หะยีตาเห นายกสมาคมศิษย์เก่าต่างประเทศจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การมอบครูฝึกสอนจากประเทศอินโดนีเซีย ตามโครงการความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสมาคมศิษย์เก่าต่างประเทศจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ ในประเทศอินโดนีเซีย ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อรับมอบครูฝึกสอนเหล่านี้ไปพัฒนาศักยภาพทางวิชาการของนักเรียนในโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนสายสามัญ และศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษ และภาษา Bahasa Indonesia ศึกษาความเป็นอยู่ และวิถีชีวิต ตลอดจนประเพณีวัฒนธรรมระหว่างกัน
ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557-เดือนมีนาคม 2558 ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 5 เดือน หรือหนึ่งภาคเรียน มีการติดตาม และประเมินผลการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีครูฝึกสอนทั้งสิ้นจำนวน 125 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย มีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ปัตตานี จำนวน 28 โรงเรียน, ยะลา 18 โรงเรียน, นราธิวาส 25 โรงเรียน, สงขลา พัทลุง และ ภูเก็ต 16 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 87 โรงเรียน
จากการดำเนินการ 2 รุ่นที่ผ่านมา ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ เด็กและเยาวชนหันมาให้ความสนใจต่อภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียนมากขึ้น และยังมีความเข้าใจในวิถีและวัฒนธรรมประเพณีเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน พร้อมรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นี้ ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาล