ศูนย์ข่าวภาคใต้ - “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” เรียกร้องรัฐบาลไทยตรวจสอบกรณีตำรวจทรมานผู้ต้องหา จี้ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน และให้ความเป็นธรรมต่อผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า
ภายหลังการจับกุมพลเมืองชาวพม่า 2 คน ที่เกี่ยวข้องต่อการฆาตกรรม ฮันนาห์ วินเทอริจ (Hannah Witheridge) และ เดวิด มิลเลอร์ (David Miller) เมื่อเดือนที่แล้ว นักกฎหมายจากทีมกฎหมายของสถานเอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสพบกับผู้ต้องหาทั้ง 2 คนบอกว่า หนึ่งในสองคนกล่าวหาว่า ตำรวจทรมาน และข่มขู่เขาด้วยการใช้ไฟฟ้าช็อต
แหล่งข่าวอีกมากมายยังรายงานว่า มีการทรมาน และปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนงานข้ามชาติจากพม่าที่ถูกตำรวจจับกุมในระหว่างการสอบสวนคดีนี้
ริชาร์ด เบนเน็ต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ทางการไทยต้องดำเนินการให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระ มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาที่มากขึ้นว่า ตำรวจใช้การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้าย
“แรงกดดันเนื่องจากความสนใจของสาธารณะ เป็นเหตุให้ต้องคลี่คลายคดีอาชญากรรมที่ทารุณ ไม่ควรส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิ รวมทั้งการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม”
วินเทอริจ และมิลเลอร์ นักท่องเที่ยวอายุ 23 และ 24 ปีตามลำดับ ถูกฆาตกรรมช่วงรุ่งสางวันที่ 15 กันยายน บนเกาะเต่า ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว
ตามรายงานข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ซ้อมคนงานข้ามชาติจากพม่าในระหว่างการสอบปากคำเกี่ยวกับการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น มีการข่มขู่พวกเขา และเอาน้ำเดือดราดใส่
แม่ของผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งที่ถูกซ้อมให้ข้อมูลว่า ตำรวจไทยสั่งไม่ให้เหยื่อการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน และข่มขู่พวกเขา
“ทางการควรให้ความคุ้มครองเพื่อไม่ให้มีการข่มขู่ และไม่ให้มีการตอบโต้แก่บุคคลใด ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานการณ์เข้าเมืองเป็นอย่างไร กรณีที่พวกเขารายงานข่าว หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทรมาน หรือการปฏิบัติที่โหดร้าย และต้องจัดให้มีการเยียวยาอย่างเต็มที่แก่ผู้เสียหาย”
“อีกทั้งยังต้องให้การประกันว่า ศาลจะไม่รับฟังหลักฐาน กรณีที่เป็นคำรับสารภาพ หรือข้อมูลที่มาจากการบีบบังคับ และการทรมาน เว้นแต่เป็นการใช้ข้อมูลนั้นเพื่อพิสูจน์ว่ามีการทรมานเกิดขึ้นจริง” ริชาร์ด เบนเน็ต กล่าว
ในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ แสดงข้อกังวลร้ายแรงต่อข้อกล่าวหาอย่างต่อเนื่องว่า มีการทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างกว้างขวางต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เรือนจำไทย ทางคณะกรรมการกระตุ้นให้ทางการไทยใช้มาตรการโดยทันทีและอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสอบสวน ฟ้องร้องดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด
“การสอบสวนข้อกล่าวหาว่า มีการทรมานเหล่านี้ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่ปล่อยให้ตำรวจสอบสวนเอง”
ทางการได้นำตัวผู้ต้องสงสัยมาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และมีการถ่ายทอดสัญญาณภาพทางโทรทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์
“ผู้ต้องสงสัยทุกคนควรได้รับการคุ้มครองให้มีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในความผิดที่มีโทษประหารชีวิต” ริชาร์ด เบนเน็ต กล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ ต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม