ยะลา - คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เปิดตัว “Budaya Classic HUSO Band” หนุนเยาวชนสำนึกรักศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สู่การเป็นบัณฑิตคุณภาพ
อาจารย์นินุสรา มินทราศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิลปวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวถึงการจัดตั้ง “Budaya Classic HUSO Band” (BCHUSO Band) เป็นวงดนตรีที่มีการผสมผสานกันระหว่างวงดนตรีท้องถิ่น (ดีเกฮูลู) กับวงดนตรีสากล (HUSO Band) เข้าด้วยกัน ขับร้องผสานทำนองด้วยกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีนางรำแสดงประกอบเพลง
ซึ่งชื่อวงดนตรีได้มาจากการมีส่วนร่วมของนักศึกษาของคณะส่งรายชื่อเข้าประกวด โดยสื่อถึงความหมายของวงดนตรีที่ให้ความสำคัญของคุณค่าทางวัฒนธรรมประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จุดเริ่มต้นทีมงานพัฒนานักศึกษาของคณะได้มาคุยกันถึงการพัฒนานักศึกษา และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมว่าจะทำอย่างไรให้นักศึกษาของเราเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมมากขึ้น เพราะสภาพปัจจุบันสื่อต่างๆ เข้ามามีบทบาททำให้นักศึกษาสนใจวงดนตรีสากล หรือวัฒนธรรมที่เราได้รับมาจากต่างชาติมากกว่าของตนเอง
เลยเริ่มจากความสนใจของนักศึกษาเป็นหลัก ซึ่งนักศึกษาได้รวมตัวกันจัดตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยเรามี 2 วงดนตรีในคณะ คือ วงดีเกฮูลู 4 ภาษา (ภาษาไทย จีน อังกฤษ มลายู) และวงดนตรีสากล (HUSO Band) จึงคิดว่าการที่เราเอาทั้ง 2 วงนี้มารวมกัน โดยที่มีเครื่องดนตรีสากลมาผสมผสานกันกับเครื่องดนตรีท้องถิ่น ประกอบด้วยมีนางรำมารีวิวประกอบเพลง จะดึงดูดให้นักศึกษาสนใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันได้มากขึ้น
อาจารย์นินุสรา มินทราศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า BCHUSO Band เป็นวงดนตรีที่มาจากความสนใจของนักศึกษาโดยตรง จึงทำให้การแสดงของวงนี้มีความเป็นธรรมชาติ เราไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นนักศึกษาจากที่ไหน สังกัดอะไร ศาสนาใด เชื้อชาติใด แต่เราสนับสนุนให้วงดนตรีนี้ได้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะทำให้นักศึกษาทุกคนได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ทำในสิ่งที่ตนเองรักอย่างเปิดเผย และอยู่ในกรอบของความดีงาม จะเห็นว่ามันเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม และในประเทศไทยยังไม่เคยมีการนำวงดีเกฮูลู มาผสมผสานกับดนตรีสากลได้อย่างลงตัว ด้านการจัดสรรเวลาการฝึกซ้อม และการเรียนการสอน ได้กำหนดวันในการฝึกซ้อมพบปะกันในทุกๆ วันจันทร์ ช่วงค่ำ หลังเลิกเรียน และการประกอบศาสนกิจ ซึ่งอาจมีปัญหาตรงห้องดนตรีอาจจะไม่พร้อม แต่เรากำลังพยายามหาสถานที่ที่เหมาะสม
“สภาพสังคมไทยในปัจจุบันพบว่า มีปัญหาในทุกๆ พื้นที่ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด ศิลปวัฒนธรรม จะเป็นส่วนหนึ่งในการหลอมรวม ความรักความสามัคคีของคนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ควรให้ความสำคัญในวัฒนธรรมท้องถิ่นตนเองให้มาก ใช้ศิลปวัฒนธรรมนำชุมชน และแก้ปัญหาในพื้นที่ วง “Budaya Classic HUSO Band” จะเป็นหนึ่งในการร่วมสืบสานวัฒนธรรม และสร้างความสมานฉันท์ในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างดี”