ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สะพานแขวนคูเต่า ที่สร้างขึ้นในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จประพาสต้น จ.สงขลา ได้รับการบูรณะจนแล้วเสร็จ และคงรูปแบบเดิมเอาไว้เกือบทั้งหมด เตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.สงขลา
วันนี้ (20 ส.ค.) นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ตรวจสอบสะพานแขวนคู่เต่า ที่สร้างขึ้นในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 อายุนับร้อยปี ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองคูเต่า เชื่อมต่อระหว่าง ต.แม่ทอม อ.บางกล่ำ กับ ต.คูเต่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และปัจจุบันตั้งอยู่ตรงข้ามระหว่าง สภ.คูเต่า กับวัดคูเต่า หลังจากที่ได้รับการบูรณะจนแล้วเสร็จสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ และยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้เกือบทั้งหมด โดยยังใช้เสาตอม่อคอสะพานเดิมทั้งสองฝั่ง เปลี่ยนเฉพาะลวดสลิง และไม้ที่เป็นทางเดินเท่านั้น
ซึ่งทางองค์การบริหารจังหวัดสงขลา ใช้งบประมาณในการบูรณะทั้งสิ้น 2 ล้านบาท หลังจากที่ถูกทิ้งร้างมานานหลายปี และชาวบ้านได้เรียกร้องให้มีการบูรณะขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าหลวง ของปวงชนชาวไทย ที่ทรงให้สร้างสะพานแขวนแห่งนี้ขึ้น เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จประพาสต้น จ.สงขลา และล่องเรือทางชลมารคผ่านคลองอู่ตะเภา และเห็นถึงความเดือดร้อนในการเดินทางข้ามไปมาของประชาชนทั้ง 2 ตำบล จึงให้สร้างสะพานแขวนขึ้นเพื่อความสะดวก
และจากอักษรที่จารึกอยู่ที่ฐานของสะพานระบุว่า ได้เริ่มสร้าง เมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเส็ง ต่อท้ายด้วยคำภาษาอังกฤษที่เขียนว่า LONG 96 ที่สำคัญยังมีหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นภาพถ่ายของสะพานแขวนแห่งนี้ที่เพิ่งสร้างเสร็จ รวมทั้งบ้านเรือนของชาวบ้านริมคลองในอดีตที่ยังคงเก็บไว้ที่วัดคูเต่า และกลายเป็นความทรงจำ และความประทับใจของชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่รับรู้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบันว่า เป็นสะพานแขวนของ ร.5
ทั้งนี้ นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต.แม่ทอม และ อบต.คูเต่า กำลังมีแผนพัฒนาให้สะพานแขวนแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของ จ.สงขลา โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะสร้างเป็นตลาดน้ำแห่งใหม่ของ จ.สงขลา เพื่อเชื่อมโยงกับศาลาวัดคูเต่า ที่ได้รับรางวัลเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2011 จากองค์การยูเนสโก ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก