ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมเครือข่ายทางวัฒนธรรมจัดงาน ประเพณีพ้อต่อ-ประเพณีไหว้พระจันทร์ ประจำปี 2557 เพื่ออนุรักษ์ และสืบสานประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตเมือง
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (6 ส.ค.)ที่ห้องประชุมชั้น 3 เทศบาลนครภูเก็ต น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต แถลงข่าวการจัดงานประเพณีพ้อต่อ (สารทจีน) และงานประเพณีไหว้พระจันทร์ โดยมี นายกวี ตันสุคตานนท์ และนายถาวร จิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต พร้อมสมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงานเทศบาลนครภูเก็ต หน่วยงานเกี่ยวข้อง แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนเข้าร่วม
น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ต ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต สำนักงานวัฒนธรรมภูเก็ต และภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมกำหนดจัดกิจกรรมร่วมงานประเพณีพ้อต่อ (สารทจีน) ประจำปี 2557 ณ ตลาดสดเทศบาล 1 ถนนระนอง และศาลเจ้าพ้อต่อก๊ง บางเหนียว เพื่อร่วมสืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันดีงามของชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดภูเก็ต ให้คงอยู่สืบไป และเพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรม แก่ประชาชน เยาวชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมืองให้เป็นที่รู้จัก
ทั้งนี้ งานประเพณีพ้อต่อ หรือสารทจีน เป็นงานอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นประเพณีแห่งความกตัญญูที่ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานตามคติความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน นับเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน งานประเพณีนี้จัดให้มีขึ้นตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติจีน (ประมาณเดือน 9 ปฏิทินจันทรคติไทย) ประเพณีพ้อต่อ มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เทศกาลอุลลัมพน ซึ่งเป็นกิจกรรมโปรดสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งความทุกข์โดยทั่วกัน ประเพณีพ้อต่อ เป็นวันครึ่งปีตามคตินิยมของจีน เป็นวันที่วิญญาณได้รับการปลอดปล่อยให้กลับมาเยี่ยมญาติพี่น้อง แต่ละบ้านจัดแท่นบูชาพร้อมอาหารคาวหวานไว้ที่หลังบ้าน โดยเครื่องเซ่นไหว้ในประเพณีพ้อต่อ ได้แก่ น้ำชา ขนมรวม (เต่เหลี่ยว) มิดเจี่ยน (คล้ายเครื่องบายสีของไทย) ขนมเต่า (อังกู้) ขนมฟู (ฮวดโก้ย) ขนมจ่าง (กี้จ่าง) ผลไม้ (สับปะรด กล้วย ข้าว ส้ม) ของหวานคาวเหล้าจีน และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ขนมเต่าสีแดง ซึ่งเรียกว่า ตั๋วกู้ โดยรวมพิธีไหว้นี้เรียกว่าพิธีป่ายปั๋ว
น.ส.สมใจ กล่าวอีกว่า สำหรับงานพ้อต่อ ปีนี้นั้น จะเริ่มในวันที่ 12 สิงหาคม 2557 เวลา 11.30 น.โดยจะมีขบวนอัญเชิญองค์พ้อต่อก้ง และขบวนแห่ขนมเต่า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในเทศกาลพ้อต่อ จากสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ไปยังตลาดสด 1 ถนนระนอง และในวันที่ 14 สิงหาคม 2557 เวลา 17.00 น. จะมีขบวนแห่ขนมเต่า จากสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ไปยังศาลเจ้าพ้อต่อก๊ง บางเหนียว นอกจากนั้น ประเพณีพ้อต่อ ยังมีพิธีป่ายปั๋ว ของศาลเจ้า และหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ วันที่ 8 และ 15 สิงหาคม 2557 ณ พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว (ชุมชนถนนกระบี่) วันที่ 10 สิงหาคม 2557 ณ ศาลเจ้าหงวนก้ง (วงเวียนหอนาฬิกา) วันที่ 11 สิงหาคม 2557 ณ ศาลเจ้าจ้ออ๋อง และวันที่ 16 สิงหาคม 2557 ณ ศาลเจ้ากิ๋วเหล็งอ๋อง (อ่าวเก ถนนตะกั่วป่า)
ส่วนการจัดงานประเพณีไหว้พระจันทร์ ประจำปี 2557 น.ส.สมใจ กล่าวว่า สำหรับการจัดงานตรงส่วนนี้ ทางเทศบาลนครภูเก็ต ได้ร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรม จัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน 2557 ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี ทั้งนี้ เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณีท้องถิ่นอันดีงามของชาวภูเก็ต และส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาการท่องเที่ยวในเขตเมือง
สำหรับประเพณีไหว้พระจันทร์ เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ที่ได้ปฏิบัติ และสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษกว่าร้อยปี ชาวจีนสมัยก่อนได้จัดให้มีพิธีไหว้ดวงจันทร์ ในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 8 เพื่ออธิษฐานให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ต่อมา พิธีดังกล่าวได้แพร่หลายไปสู่ประชาชนในท้องถิ่น และทั่วประเทศจีน จนกลายเป็นประเพณีของชาวจีนฮกเกี้ยน ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา
เทศบาลนครภูเก็ต ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้จะจัดขึ้นในวันที่ 8 กันยายน ตั้งแต่เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี กิจกรรมหลักๆ ในปีนี้ จะประกอบด้วย ร่วมกินขนม ชมพระจันทร์ พบกับการจำหน่ายและสาธิตอาหารและขนมพื้นเมืองภูเก็ต ขนมไหว้พระจันทร์และขนมมงคลต่างๆ ชมการแสดงดนตรีของเยาวชน การแสดงของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองภูเก็ต ร่วมสวดมนต์จีน และพิธีไหว้พระจันทร์
“ในการจัดงานไหว้พระจันทร์ นอกจากจะเป็นการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ต ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ อันจะเป็นการส่งเสริมนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น ในวันที่ 8 กันยายน เวลา 21.19 น. จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมประกอบพิธีไหว้พระจันทร์ ร่วมจิบน้ำชา ดื่มกาแฟโบราณ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัวต่อไป” น.ส.สมใจ กล่าวในที่สุด