xs
xsm
sm
md
lg

(ลุ้น) ไปภูเก็ตด้วยกับคณะทัวร์โดยสาร (ก่อน) AEC เรื่องนี้ต้องถึง คสช.! (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เเฟ้มภาพประกอบข่าว
ทีมข่าวศูนย์ข่าวภูเก็ต

ปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานผิดกฎหมายในประเทศไทย ถือเป็นปัญหาสำคัญที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญ และยกเป็นปัญหาเร่งด่วนต้องแก้ไข เพราะมีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคง และปัญหาการค้ามนุษย์ จึงมีนโยบายผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวผิด กม.ทั้ง 3 สัญชาติ สามารถมาขึ้นทะเบียนชั่วคราวภายใน 30 วัน ตามที่กำหนด จนขณะนี้มีแรงงานออกมาขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน มีคนบางกลุ่มกำลังฉกฉวยโอกาสในช่วงนโยบายผ่อนผันให้แรงงานมาเข้าระบบฯ เป็นช่องทางทำกิน ด้วยการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวผ่านทางรถทัวร์โดยสาร จากหลายจังหวัดในภาคกลาง ไปจดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต ตามนโยบายผ่อนผันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวฯ

ทีมข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้พูดคุยกับผู้ใช้บริการรถทัวร์โดยสารสายกรุงเทพฯ-ภูเก็ต รายหนึ่ง ที่ต้องการเปิดเผยข้อมูล หลังใช้บริการรถเส้นทางดังกล่าวเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา (ก่อนการเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ของจังหวัดภูเก็ตเพียง 1 สัปดาห์)

“โดยได้พบสิ่งผิดสังเกตระหว่างการเดินทางหลายอย่างที่เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า อาจมีการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามายังจังหวัดภูเก็ต โดยใช้วิธีการให้แรงงานต่างด้าวหลบมาในห้องเก็บสัมภาระชั้นล่างของรถเป็นจำนวนมาก จนทำให้เขา และครอบครัว รู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินตลอดการเดินทาง”



โดยผู้ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์รายนี้เล่าว่า “รถทัวร์โดยสารคันดังกล่าว ซึ่งเป็นรถวีไอพี 24 ที่นั่ง เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ซึ่งมีกำหนดออกจากกรุงเทพมหานคร ในเวลาประมาณ 19.00 น.จะมาถึงจังหวัดภูเก็ต ในช่วงประมาณ 7 โมงเช้า โดยในวันนั้นตนได้ที่นั่งริมบันไดชั้นสอง

ซึ่งจุดดังกล่าวสามารถมองเห็นผู้โดยสารที่เข้าออกเมื่อประตูสองของรถถูกเปิดออก และเมื่อรถออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้แห่งใหม่ มีการจอดรับผู้โดยสารตามจุดต่างๆ ที่ไม่ใช่ป้ายจอด เช่น ที่ช่องทางด่วนวงแหวนรอบนอก แยกถนนพระรามสอง-แสมดำ ไปสายธนบุรี-ปากท่อ มหาชัย-เมืองใหม่ มหาชัย สมุทรสาคร แม่กลอง จนถึงจุดสุดท้ายที่จังหวัดราชบุรี รวมหลายจุด
แฟ้มภาพประกอบข่าว
แต่ละจุดมีผู้โดยสารที่คาดว่าเป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ทั้งชาย-หญิง และเด็ก ขึ้นจุดละ 2-4 คน รวมแล้วเกือบ 20 คน วิ่งขึ้นรถอย่างรวดเร็วเข้าไปในช่องระหว่างห้องน้ำกับห้องผู้โดยสารชั้นล่าง คาดว่าเป็นห้องเก็บสัมภาระผู้โดยสาร หรือห้องพนักงานประจำรถ โดยพนักงานไม่มีการลงไปตรวจตั๋วเดินทาง หรือจัดหาที่นั่งให้ตามปกติ

ขณะเดียวกัน สังเกตพบว่ามีพนักงานบนรถมากกว่าปกติ ซึ่งมีถึง 4 คน และ 2 ใน 4 คนมีการทำหน้าที่ถือโพยคอยนับจำนวนผู้โดยสารที่แอบขึ้นตามจุดรายทาง ขณะเดียวกัน ก็มีการพูดคุยโทรศัพท์ประสานงานกับคนปลายสายด้วยเสียงเบาๆ ประมาณว่า รับจากจุดใดบ้าง กี่คน และจุดหมายคือที่ใด

ระหว่างรถจอดพักในจุดพักรถก็ไม่เห็นผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวลงจากรถมารับประทานอาหารเช่นเดียวกับผู้โดยสารคนอื่นๆ กระทั่งรถเดินทางเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต ก็พบว่ารถคันนี้มีการจอดรายทางให้ผู้โดยสารนิรนามเหล่านั้นกระจายตามจุดต่างๆ ตั้งแต่บ้านไม้ขาว อ.ถลาง ก่อนถึงแยกสนามบิน จุดก่อนถึง สภ.ถลาง จุดบริเวณโรงไฟฟ้า และก่อนถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ รวม 5 จุด จุดละ 2-4 คน โดยพบว่าทั้งหมดที่ไม่ใช่จุดจอดตามปกติ บางจุดไม่มีบ้านเรือน หรือเป็นเขตชุมชน และทุกรายที่รถจอดก็จะรีบเร่งเครื่องออกอย่างรวดเร็ว”

จากพฤติการณ์เหล่านี้เชื่อว่าเป็นหนึ่งในหลายๆ ช่องทางที่ขบวนการค้าแรงงานใช้ในการขนย้ายแรงงานผิดกฎหมายมาส่งให้แก่นายจ้างในจังหวัดภูเก็ต ช่วงก่อนที่จะมีการเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ของจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม ถึงวันที่ 21 สิงหาคม
ผวจ.ภูเก็ตเปิดศูนย์บริการฯ
สอดคล้องกับข้อมูลของ นางเยาวภา พิบูลย์ผล หน.สำนักจัดหางานจังหวัดภูเก็ต ซึ่งระบุว่า ก่อนเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานฯดังกล่าว มีนายจ้างที่ประสงค์จะนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียน เข้าแจ้งชื่อแรงงานต่างด้าวล่วงหน้าไปแล้วกว่า 15,700 คน ยังไม่รวมกับแรงงานที่เดินทางมาแจ้งในระหว่างเปิดศูนย์อีกจำนวนมาก คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 20,000 คน

สำหรับจำนวนแรงงานต่างด้าวของจังหวัดภูเก็ต เดิมที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ทั้ง 3 สัญชาติ รวมกว่า 115,465 คน แบ่งเป็น แรงงานพม่า สูงถึง 113,861 คน ลาว 714 คน และกัมพูชา 890 คน แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการประมง ก่อสร้าง ร้านค้า ร้านอาหาร และกิจการต่างๆ ที่ต้องใช้แรงงาน และหากมีการขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จ ภายในเดือนหน้าจะมีตัวเลขแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นเป็น 130,000 คน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์จดทะเบียนแรงงานได้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียน และออกใบอนุญาตชั่วคราว เพื่อให้ทันแล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมายออกมาขึ้นทะเบียนได้นั้น ทำให้มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายต้องการเข้าระบบเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด นอกจากจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพ และความมั่นคงของประเทศแล้ว ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาทางธุรกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศด้วย

แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้มีเสียงสะท้อนจากคนบางกลุ่มว่า เมื่อคำบอกเล่าของแรงงานที่มาขึ้นทะเบียนได้แล้วถูกบอกต่อไปยังญาติพี่น้องในประเทศบ้านเกิด ก็จะทำให้มีแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยมีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย เพิ่มมากขึ้น
แรงงานจำนวนมากเดินทางมาขึ้นทะเบียน
จุดนี้เองทำให้กลุ่มนายหน้าค้าแรงงานต่างด้าวระดมทุกช่องทาง ทุกเครือข่ายค้ามนุษย์ เพื่อนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎทั้งที่อยู่ใน และนอกราชอาณาจักรเข้ามาขึ้นทะเบียนในช่วงระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม ถึงวันที่ 21 สิงหาคม ถึงแม้จะมีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี แต่เมื่อคำนวณดูกับโบนัสก้อนโตหลังงานสำเร็จมันก็ช่างน่าเสี่ยง..

สุดท้ายหลายฝ่ายคงต้องคิดร่วมกันว่า ในการแก้ปัญหา แต่กลับเกิดปัญหาซ้อนปัญหาขึ้นมาอีกครั้งนั้นเพราะอะไร? ทำไมขบวนการนายหน้าแรงงานจึงกล้าอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวพลิกวิกฤตเป็นโอกาสหาช่องทางรวย กดหัวเเรงงานซ้ำเเล้วซ้ำอีก อาจเพราะความวุ่นวายของเจ้าหน้าที่ในช่วงจัดระเบียบเองที่ทำให้เกิดช่องว่างหละหลวม ให้นายหน้ายังคงเข้ามาหาประโยชน์ได้อย่างสบายใจ

“โดยเฉพาะการทบทวนมาตรการต่างๆ ด้านเเรงงานอย่างจริงจัง และเด็ดขาด ก่อนอีกฝ่ายจะฉลองความสำเร็จในวันที่ 21 สิงหาคม (วันสิ้นสุดการนำแรงงานเข้าระบบฯ ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) นี้แทน”


แฟ้มภาพเเรงงานในภาคประมง

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น