ยะลา - ผลไม้ชายแดนใต้ถึงขั้นวิกฤต ราคาตกต่ำ ทำเกษตรกรเดือดร้อนหนัก ขณะที่เกษตรจังหวัด ระบุเตรียมมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จัดสรรงบประมาณซื้อผลไม้ของเกษตรกรในราคากลางที่สูงกว่าท้องตลาด และกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่
วันนี้ (23 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดยะลา ว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงฤดูกาลที่ผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา เผยว่า ในพื้นที่จังหวัดยะลาปีนี้จะมีผลผลิตทุเรียนทั้งหมดประมาณ 35,000 ตัน ออกสู่ท้องตลาดในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และจะออกมากที่สุดประมาณต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งในขณะนี้มีผลผลิตทุเรียนที่ออกสู่ท้องตลาดแล้ว
ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ประมาณ 10 ตันต่อวัน ราคารับซื้อหน้าสวนผลละ 4-5 บาท ทุเรียนชะนี ออกสู่ท้องตลาดประมาณวันละ 5 ตัน ราคารับซื้อหน้าสวนกิโลกรัมละ 3-5 บาท ราคารับซื้อในตลาดกิโลกรัมละ 4-6 บาท และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ออกสู่ท้องตลาดประมาณ 10 ตันต่อวัน ราคารับซื้อแบบคละ กิโลกรัมละ 18-22 บาท ราคาคัดเกรด กิโลกรัมละ 23-24 บาท
ผลผลิตมังคุด ในพื้นที่จังหวัดยะลา จะมีผลผลิตทั้งหมดประมาณ 5,300 ตัน และกำลังออกสู่ท้องตลาด ราคารับซื้อหน้าสวนตกที่กิโลกรัมละ 4-5 บาท ราคาในตลาดยะลา กิโลกรัมละ 5-6 บาท
ผลผลิตลองกอง จะมีทั้งหมดประมาณ 21,000 ตัน โดยจะเริ่มออกสู่ท้องตลาดในช่วงต้นเดือนสิงหาคม คาดว่าราคารับซื้อในตลาดยะลา จะตกที่ประมาณกิโลกรัมละ 10-12 บาท ส่วนเงาะ จะมีผลผลิตประมาณ 2,104 ตัน กำลังออกสู่ท้องตลาดในช่วงนี้ ไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม ราคา ณ ตลาดยะลา อยู่ที่กิโลกรัมละ 5-6 บาท
ทั้งนี้ หลังจากที่ ศอ.บต.ได้มีโครงการรับซื้อมังคุด จากเกษตรกรในพื้นที่ จำนวนวันละ 13 ตันเพื่อช่วยกระจายผลผลิตออกไปสู่ท้องตลาด ทำให้เกษตรกรที่ทราบข่าว เร่งเก็บผลผลิตมังคุด มาขายให้แก่ศูนย์รับซื้อตามโครงการของ ศอ.บต. โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่บ้านคอกช้าง ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ที่เก็บผลผลิตมาขายให้แก่ศูนย์รับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งเกษตรกรบางรายบอกว่า ปีนี้ราคาผลไม้ในพื้นที่มีราคาตกต่ำจนน่ากังวล
ทางด้าน นางปรารมณ์ ยานะวิมุติ เกษตรจังหวัดยะลา ได้เปิดเผยว่า ทางจังหวัดยะลา ร่วมกับเกษตรจังหวัด ได้ประชุมหารือเพื่อหามาตรการในการรองรับผลผลิตผลไม้ในพื้นที่ปีนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ที่ประสบปัญหาจากราคาผลไม้ที่ตกต่ำ โดยมีการประสานความร่วมมือจาก ศอ.บต. และฝ่ายทหาร ให้มีการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อผลไม้ของเกษตรกรในราคากลางที่สูงกว่าท้องตลาด และกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่
“ทั้งนี้ ปัญหา และสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาผลไม้ตกต่ำนั้น สืบเนื่องจากผลผลิตที่ออกมาพร้อมกันในช่วงฤดูกาลนี้เป็นจำนวนมาก จนทำให้ผลผลิตล้นตลาด และอีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ทำให้พ่อค้าจากต่างพื้นที่ไม่กล้าเข้ามารับซื้อผลผลิต และถูกพ่อค้าคนกลางในพื้นที่กดราคา อย่างไรก็ตาม จังหวัดยะลา และสำนักงานเกษตรจังหวัด เตรียมจัดสรรงบประมาณเพื่อจะช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ไว้แล้ว” เกษตรจังหวัด กล่าว