ยะลา - ประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดยะลา ทยอยเดินทางออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนรอมฎอน คาดจะคึกคักในช่วง 5 วันสุดท้าย ก่อนเข้าสู่เทศกาลวัน “ฮารีรายอ”
วันนี้ (18 ก.ค.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่สำรวจเศรษฐกิจในช่วงเดือนรอมฎอน คือ เดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะห์ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าเดือนบวช เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง เนื่องจากชาวมุสลิมจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นศาสนบัญญัติ ด้วยการงดอาหารทุกชนิด รวมถึงน้ำดื่ม ในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น ถึงพระอาทิตย์ตกดิน
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลฮารีรายออีดิ้ลฟิตริ เป็นเทศกาลรื่นเริงหลังจากถือศีลอด หรืออาจเรียกกัน “วันรายาออกบวช” “วันรายอออกบวช” “วันออกบวช” หรือ“วันอีดเล็ก” ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวาล ตามปฏิทินอิสลาม ช่วงเวลานี้เองทำให้พี่น้องชาวไทยมุสลิมในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคคึกคักเป็นพิเศษ บรรยากาศของเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ในพื้นที่ย่านการค้าบริเวณสายกลาง มีร้านค้าที่จำหน่ายเครื่องแต่งกายของมุสลิม และมุสลีมะห์หลากหลายร้าน ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าอย่างคึกคักเพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าสู่เทศกาลฮารีรายออีดิ้ลฟิตริ ที่กำลังจะมาถึงในอีกประมาณ 12 วัน
นายฟิกรี ปายอ เจ้าของร้านฟิกรี จำหน่ายเครื่องแต่งกาย ผ้าละหมาด หมวกกะปิเยาะ ที่รองละหมาด ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้เมื่อเทียบกับ 3-4 ปี ก่อนยอดขายตกลงมาก ปีที่แล้วยังพอขายได้บ้าง แต่ในปีนี้สำหรับที่ร้านถือว่าแย่มาก อาจจะเป็นเพราะราคายางพาราถูก ทำให้ลูกค้ามีรายได้ลดลง การซื้อแต่ละครั้งจะมีการเปรียบเทียบราคาสินค้ากับราคายางพารา ทำให้การซื้อลดลง แต่ก็ยังมีลูกค้าเข้าร้านบ้าง แต่ยังถือว่าค่อนข้างที่จะเงียบ
ทางด้าน นายอาลียะส์ เจ๊ะเล๊าะ และนางอาทิตยา สุมาลี คู่สามีภรรยา ลูกค้าร้านซีดาน จำหน่ายเสื้อมุสลิม ผ้าละหมาด หมวกกะปิเยาะ เปิดเผยว่า ตนเอง (นายอาลียะส์) เลือกซื้อร้านนี้เพราะว่า เป็นร้านของเพื่อน ทางร้านมีแบบให้เลือกเยอะ สามารถเลือกลาย เลือกเนื้อผ้าได้ มีหลายราคาให้เลือก ทำให้ชื่นชอบร้านนี้เป็นพิเศษ เพราะในช่วงเทศกาลฮารีรายอ จะต้องมีการใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ดีๆ ส่วนรายจ่ายอาจจะลดลงบ้างตามสภาพเศรษฐกิจ ตัวเราสามารถกำหนดได้ว่าเราจะเลือกเสื้อผ้าราคาแบบไหนถึงจะเหมาะสมต่อรายได้ของเรา
ส่วนทาง นางอาทิตยา สุมาลี ได้กล่าวว่า เทศกาลฮารีรายอถือเป็นเทศกาลที่สำคัญมากของชาวมุสลิมทั่วโลก จะมีการใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ รองเท้าใหม่ หากมีกำลังก็จะมีการซื้อผ้าละหมาดใหม่ เพื่อเป็นการเริ่มต้นสิ่งที่ดี เป็นการฉลองวันฮารีรายอ มุสลีมะห์จะมีการเก็บเงินในช่วงก่อนเดือนรอมฎอน เพื่อตัดชุด ซื้อรองเท้าใหม่ ไม่ว่าจะราคาเท่าไหร่ก็ทุ่มสุดตัว ให้สวยให้ดูดีที่สุดในวันนั้น เพราะถือเป็นการฉลองปีละครั้งเท่านั้น
ในส่วนของร้านทองมุสลีมะฮ์ นางมารียะห์ หิเล ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้มีลูกค้าน้อยลงมาก กำลังซื้อก็มีน้อย ทองรูปพรรณที่ขายได้ส่วนใหญ่จะเป็นชิ้นเล็กๆ น้ำหนักประมาณครึ่งสลึงไปจนถึง 1 บาท น้อยมากที่จะซื้อ 2-3 บาท ไม่เหมือนในปีก่อนที่ขายกันไม่ทัน ลูกค้าเยอะมาก อาจจะเป็นเพราะลูกค้าส่วนใหญ่มีอาชีพกรีดยาง ทำสวนยาง ซึ่งช่วงนี้ราคายางพาราถูกลง ทำให้เงินในการที่จะมาซื้อทองลดลง หรืออาจจะลดน้ำหนักทองลงเป็นชิ้นเล็กๆ แต่อย่างไรก็ดี ลูกค้ายังมีเข้ามาเรื่อยๆ อาจเพราะเป็นค่านิยมในการซื้อทองเพื่อไปใส่ในช่วงเทศกาลฮารีรายอก็เป็นได้ บางรายก็นำทองเก่ามาแลกเป็นของใหม่เพื่อใส่ในช่วงเทศกาลฮารีรายอ เพราะต้องการประหยัดเงินก็มีจำนวนหลายราย