ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มรภ.สงขลา จัดค่ายพัฒนาผลงานก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการ พร้อมเชิญผู้ทรงคุณวุฒิสวมบทพี่เลี้ยงฝึกปฏิบัติทำตำรา เร่งพัฒนาอาจารย์ให้มีตำแหน่งทางวิชาการให้มากยิ่งขึ้น
วันนี้ (17 ก.ค.) ผศ.อ้อยทิพย์ พลศรี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักพัฒนาคุณภาพและระบบบริหาร มรภ.สงขลา จัดโครงการค่ายพัฒนาผลงานทางวิชาการ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ ณ ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา แบ่งการอบรมออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก เป็นการประชุมพี่เลี้ยง และกลุ่มที่จะขอตำแหน่งวิชาการ ส่วนระยะที่ 2 เป็นการรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมค่ายวิชาการ สำหรับฝึกปฏิบัติจัดทำเอกสาร และตำราเพื่อก้าวสู่ตำแหน่งทางวิชาการ โดยมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ อาจารย์ผู้มีคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง และมีผลงานทางวิชาการไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 รวมทั้งผู้มีตำแหน่งทางวิชาการจากทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาให้แก่อาจารย์ มีวิทยากรผู้ทรงวุฒิทางการศึกษาร่วมให้ความรู้ อบรม และเสวนาจำนวน 23 คน โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากคณะต่างๆ ภายใน มรภ.สงขลา และหน่วยงานภายนอก คือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มรภ.สงขลา กล่าวว่า กิจกรรมในโครงการประกอบด้วย ปฏิบัติการทำผลงานทางวิชาการ การอบรมเชิงปฏิบัติการโดยอาจารย์ต้นแบบผู้ผ่านการขอตำแหน่งทางวิชาการสำเร็จ การเสวนาเรื่องคุณภาพการทำผลงานทางวิชาการ โดยคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ เสวนาแนวปฏิบัติการทำผลงานทางวิชาการ โดยที่ปรึกษาผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ เสวนาเรื่องตรวจเยี่ยมและตรวจติดตาม โดยคณะกรรมการพัฒนาวิชาการ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำผลงานทางวิชาการ และสรุปพัฒนาการตลอดระยะเวลาการอบรม ถือเป็นโครงการที่นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับการข้อกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
โดยมีการพัฒนาผลงานทางวิชาการให้เป็นรูปธรรม และการพัฒนาคุณวุฒิอย่างต่อเนื่องของคณาจารย์ มรภ.สงขลา สอดรับกับนโยบายการบริหาร มรภ.สงขลา พ.ศ.2559-2559 ที่มุ่งพัฒนางานด้านต่างๆ โดยการพัฒนางานด้านวิชาการถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของ มรภ.สงขลา ซึ่งสนับสนุน และเร่งรัดพัฒนาอาจารย์ให้มีตำแหน่งทางวิชาการ ถือเป็นแผนพัฒนางานวิชาการด้านการพัฒนาอาจารย์ และบุคลากรให้สอดคล้องตามพันธกิจการผลิต พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพครู อันจะนำไปสู่ผลการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษา