ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ผุดวิธีรับน้องใหม่เชิงสร้างสรรค์ หยุดใช้ “วาร์กเกอร์” ขู่รุ่นน้องกลัว โดยเปิดโอกาสรุ่นพี่สอนน้องรำ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้นาฏศิลป์เป็นสื่อกลางปรับพื้นฐานของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เชื่อสร้างความกลมเกลียวให้เกิดขึ้นระหว่างพี่-น้องในระยะยาว
วันนี้ (16 ก.ค.) นายโอภาส อิสโม อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการปรับพื้นฐานทางด้านนาฏศิลป์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ว่า จัดขึ้นเป็นปีแรก มีนักศึกษาโปรแกรมวิชานาฏศิลป์ เข้าร่วม 57 คน เนื่องจากนักศึกษาแต่ละคนมีพื้นฐานทางด้านนาฏศิลป์แตกต่างกัน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในกระบวนการเรียนรู้ของโปรแกรมวิชา ทางคณะฯ จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อปรับพื้นฐานด้านนาฏศิลป์ให้ทุกคนมีแบบแผนเดียวกันก่อนเปิดภาคเรียน โดยให้รุ่นพี่ภายในคณะมีบทบาทสำคัญในการฝึกซ้อม นับเป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง
ด้านรุ่นพี่อย่าง นายสิทธิชัย พรรณวิชัน “พี่กอล์ฟ” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง มรภ.สงขลา ประธานโครงการปรับพื้นฐานทางด้านนาฏศิลป์ กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นกิจกรรมรับน้องของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของคณะฯ ที่ใช้วิธีการรับน้องแบบอ่อนช้อย โดยใช้วิชานาฏศิลป์เข้ามาเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ และเปิดโอกาสให้รุ่นพี่รุ่นน้องได้ทำความรู้จัก สร้างความสนิทสนมผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยงในการฝึกซ้อม โดยมีอาจารย์ในคณะเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ซึ่งกิจกรรมที่นำมาใช้สอนรุ่นน้องจะครอบคลุมทุกแขนงของนาฏศิลป์ ทั้งนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์สากล นาฏยรังสรรค์ มโนราห์ และรองเง็ง ทำให้รุ่นพี่สามารถเห็นแววการแสดงของรุ่นน้องตั้งแต่ก่อนเปิดเรียน และดึงน้องๆ ที่มีความสามารถไปฝึกซ้อมเพิ่มเติม เพื่อแสดงโชว์ในงานต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัย
“ผมอยากลบภาพความจำในเรื่องวิธีการรับน้องใหม่ เนื่องจากเชื่อว่าทุกคนไม่มีใครชอบความรุนแรง ไม่ชอบการตะคอกใส่หู และอยากเห็นภาพรุ่นน้องเจอรุ่นพี่ในครั้งแรกแล้วรู้สึกประทับใจ ไม่ใช่ความหวาดกลัว”
น.ส.ภัทรวดี สุวรรณมณี “น้องมายด์” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 โปรแกรมวิชานาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา กล่าวถึงความประทับใจในการเข้าร่วมโครงการว่า เป็นการสร้างความสัมพันธ์ภายในคณะฯ ทั้งจากอาจารย์ รุ่นพี่รุ่นน้อง และเพื่อนพ้อง ก่อให้เกิดความรักสามัคคี ได้ฝึกสมาธิ และความอดทนของตนเอง เพราะท่ารำแต่ละท่านั้นมีความแตกต่างกัน จึงต้องมีสมาธิจดจำคำร้อง และทำนองเพลง โดยมีรุ่นพี่เป็นผู้ฝึกซ้อมดูแลอย่างใกล้ชิด และมีอาจารย์ภายในคณะฯ แวะเวียนมาให้กำลังใจ และคำแนะนำ
ส่วน น.ส.พนิดา ขาวแสง “น้องนิดา” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 โปรแกรมวิชานาฏยรังสรรค์ กล่าวว่า ตนรักวิชานาฏศิลป์ ซึ่งศาสตร์ที่อ่อนช้อยงดงาม และเมื่อมีโอกาสได้รำแสดง ได้เห็นผู้ชมยิ้มก็รู้สึกหัวใจพองโตไปด้วยความสุข และภาคภูมิใจไปด้วยทุกครั้ง ผลงานของรุ่นพี่นับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้อยากเข้าศึกษาในโปรแกรมวิชานาฏยรังสรรค์ มรภ.สงขลา เพราะอยากมีความสามารถ และมีผลงานเป็นที่ยอมรับเหมือนเช่นรุ่นพี่ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ตนมองว่ากิจกรรมรับน้องเป็นวิธีการละลายพฤติกรรม เพื่อให้รุ่นพี่รุ่นน้องมีโอกาสทำความรู้จักกัน แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เห็นว่า การรับน้องของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มีคุณค่ามากกว่านั้น เนื่องจากเป็นการทำความรู้จักกันผ่านวิธีการฝึกซ้อมท่ารำพื้นฐาน โดยมีรุ่นพี่เป็นพี่เลี้ยงในการฝึกซ้อม ทำให้รู้สึกประทับใจรุ่นพี่ทุกคน อีกทั้งรุ่นพี่ยังถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย รวมทั้งปลูกฝังให้รักเพื่อน เคารพอาจารย์ และรักในสถาบันการศึกษา
สิ่งที่นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา สะท้อนให้เห็นก็คือ ความพยายามในการเปลี่ยนวิธีการรับน้องแบบเดิมๆ มาเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง โดยปราศจากความรุนแรง จะมีก็เพียงแต่ความปรารถนาดีแห่งมิตรไมตรีที่ถ่ายทอดถึงกัน ผ่านท่วงท่ารำอันอันอ่อนช้อยงดงาม