xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิจัยฯ มสธ.เปิดหลักสูตรติวเข้มผู้นำท้องถิ่น เสริมทักษะการสื่อสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองสังคม มสธ. จัดบริการวิชาการเชิงรุกติวเข้มผู้นำ-เครือข่ายชุมชนในท้องถิ่นในพื้นที่ภาคใต้ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้นอกระบบ มุ่งเน้นทักษะการสื่อสารเพื่อเตรียมความรองรับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ปัจจุบัน

รศ.ดร.วิทยาธร ท่อแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า ด้วยความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคมอย่างสอดคล้องตามภารกิจการวิจัย และการให้บริการวิชาการแก่สังคม

“ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสื่อสารการเมืองและสังคม มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชบริการทางวิชาการทางสังคม และให้การอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรหลากหลายหลักสูตรสอดคล้องต่อความต้องการของสังคม โดยเฉพาะความสำคัญการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ทั้งหลักสูตรการสื่อสารด้านการเมืองท้องถิ่น หลักสูตรการสื่อสารภาษาอังกฤษตามแนวธรรมชาติที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การพัฒนาศักยภาพผู้นำท้องถิ่นรองรับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสำหรับบุคลากรของท้องถิ่น การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่น”

นายเกรียงศักดิ์ ศรีไสย นายก อบต.ท่าชัก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ผู้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพการสื่อสารทางการเมืองเจาะลึกกลยุทธ์การกำหนดนโยบาย การสื่อนโยบายและผลการดำเนินงาน การปราศรัย และการพูดในโอกาสต่างๆ ให้โดนใจมวลชน กล่าวว่า เมื่อเข้าอบรม เรียนรู้ และฝึกประสบการณ์จากหลักสูตรดังกล่าวได้เคล็ดลับการพัฒนาตัวเองเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในฐานะการเป็นผู้นำของชุมชนในท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งกับตนเอง และการพัฒนาท้องถิ่นให้สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากขึ้น

“การสื่อสารนโยบาย และผลการดำเนินงานเป็นหน้าที่ที่สำคัญของผู้สมัครรับเลือกตั้งกรณีเป็นฝ่ายการเมืองที่ประกาศตัวเข้าไปทำงานในฐานะผู้บริหาร อบต.ต้องเข้าใจถึงปัญหาความต้องการ และแนวทางการพัฒนา ที่สำคัญต้องมีการสื่อสารการบริหารงาน หรือแนวคิดต่างๆ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ เข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองของชาวบ้านให้มากขึ้น เพราะในชุมชนท่าชักมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตในชุมชนซึ่งสามารถพัฒนา และต่อยอดจัดทำเป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มาก การเข้าอบรมได้เคล็ดลับ และแนวคิดการบริหารงานในท้องถิ่นมาก ทั้งนี้ จะประสบความสำเร็จขึ้นอยู่กับการบูรณาการ และนำไปประยุกต์ใช้”

นางจุฑามณี บิหลังโหลด เครือข่ายอาสาพัฒนาพิมาน จากชุมชนสี่แยกคอกเป็ด เทศบาลเมืองสตูล อ.เมืองสตูล จังหวัดสตูล บอกว่า ชอบทำงานจิตอาสาให้แก่ชุมชน เมื่อเข้าอบรมการพัฒนาศักยภาพเครือข่าย ภายใต้ชื่อ “อาสาพัฒนาพิมาน” ซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมของเทศบาลเมืองสตูลกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นอกจากการปลุกจิตสำนึกรักในชุมชนในท้องถิ่นแล้ว ยังมีโอกาสเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร การใช้สื่อใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นช่องทางอันเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ เทศบาลเมืองสตูล ในด้านการพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหา และความต้องการของชุมชนมากขึ้น



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น