พัทลุง - เจ้าหน้าที่ศูนย์เพาะพันธ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จ.พัทลุง ยิงยาสลบ “หมีขอ” ซึ่งเข้ามานอนอยู่ในห้องเรียน ร.ร.กงหราพิชญาการ พร้อมเข้าทำการจับกุมได้อย่างละม่อม พบเป็นหมีเพศผู้หนักราว 20 กก.ตาข้างซ้ายบอด 1 ข้าง สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ของไทย โดยเจ้าหน้าที่เตรียมปล่อยกลับคืนสู่ป่าต่อไป
วันนี้(25 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า จากกรณีที่พบหมีขอ หรือหมีเบ็ดลงจากป่าเขาบ้านคู แล้วหลบมาแอบนอนในหอประชุมโรงเรียนกงหราพิชญาการ อ.กงหรา จ.พัทลุง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทำให้ครูนักเรียน ที่พบเห็นแตกตื่น เนื่องจากห้องประชุมดังกล่าวเตรียมเพื่อประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และได้ประสานเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อจับไปปล่อยในป่าต่อไปล่าสุด
เมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา เจ้าหน้าศูนย์เพาะพันธ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดพัทลุง และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง ได้นำกำลังพร้อมยาสลบ และตาข่ายจับสัตว์ มาทำการจับหมีตัวดังกล่าวได้แล้ว พบว่าเป็นหมีขอ หรือหมีเบ็ดเพศผู้ น้ำหนักราว 20 กก. ดวงตาด้านซ้ายเสียไปข้างหนึ่ง แต่ร่างกายสมบูรณ์ดี เจ้าหน้าที่จึงใช้ยาคลายเครียดฉีดให้ป้องกันการตื่นตระหนกของสัตว์ ท่ามกลางเด็กนักเรียนที่ยืนมุงดูอยู่เป็นจำนวนมาก
ด้านนายพิเชษฐ์ สงสมพันธุ์ หน.ศูนเพาะเลี้ยงกล่าวว่า หมีขอตัวดังกล่าวน่าจะออกมาหากินในเวลากลางคืน พอเช้าจึงกลับเข้าป่าไม่ทัน เดินพลัดหลงเข้ามาในโรงเรียน ซึ่งหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์เพาะเลี้ยงจะนำไปฟื้นฟูและตรวจร่างกายก่อนไปปล่อยยังป่าที่อยู่ในธรรมชาติต่อไป
นายพิเชษฐ์ ยังกล่าวอีกว่า หมีขอ มีชื่อในภาษามลายูว่า บินตุรง (Binturong) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แม้จะดูคล้ายหมีจนได้ชื่อว่าหมี แต่เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็นที่ใหญ่ที่สุด มันมีหางยาวเป็นพวงคล้ายกระรอก จึงเป็นที่มาของชื่อ หมีกระรอก ขนตามตัวค่อนข้างยาว สีดำและหยาบ สีขนบริเวณหัวอาจมีสีเทา หูกลม บริเวณขอบหูมีสีขาว หางยาวสามารถใช้เกาะเกี่ยวต้นไม้ได้เป็นอย่างดี มีความยาวลำตัว และหัว 61-96.5 เซนติเมตร ความยาวหาง 50-84 เซนติเมตร น้ำหนัก 9-20 กิโลกรัม ถิ่นอาศัยพบในภูฏาน, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย, ภาคตะวันตกของพม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, พรมแดนเวียดนามติดกับลาวและกัมพูชา, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา, เกาะบอร์เนียวในอินโดนีเซีย และเกาะปาลาวันในฟิลิปปินส์
ซึ่งหมีขอเป็นสัตว์หากินในเวลากลางคืน ชอบอยู่ตามลำพัง แต่บางครั้งอาจอยู่รวมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เช่น แม่และลูก ในเวลากลางวันจะใช้โพรงไม้เป็นที่นอน อาหารได้แก่ ผลไม้ และแมลงรวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ ปีนต้นไม้ได้เก่ง โดยใช้หางเกาะเกี่ยวกิ่งไม้จากต้นหนึ่งไปยังอีกต้น นอกจากนี้ยังว่ายน้ำได้ดี ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ของไทยและอยู่ในบัญชีชนิดสัตว์ใกล้สูญพันธ์ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN)